ให้เลี้ยงเป็ดและสุกร!

   เป็นความเข้าใจกันมานานแล้วว่า นโยบายสาธารณะหมายถึงทิศทาง แนวทาง ข้อกำหนด และการกระทำของรัฐบาล ราชการ หน่วยงาน และผู้มีอำนาจ ว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนและสังคม มีทั้งที่เขียนไว้ในแผน ในคำแถลงต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่ทางการ
 
   เมื่อปี ๒๕๐๔ ผู้ใหญ่ลีจึงต้องเรียกประชุมชาวบ้าน ประกาศว่า “ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร”
 
   นั่นเป็นนโยบายสาธารณะแนวดิ่ง เป็นนโยบายสาธารณะรูปแบบหนึ่งที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้รับนโยบายและรับผลจากนโยบาย เป็นแนวคิดเก่าของการอภิบาลโดยรัฐ (governace by government)
 
   ถึงวันนี้ ความหมายของ“นโยบายสาธารณะ” กินความกว้างกว่านั้นมาก หมายถึง “ทิศทางแนวทางที่สังคมโดยรวมเห็นว่า หรือเชื่อว่าควรจะดำเนินในทิศทางนั้น” อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ เพราะทุกนโยบายย่อมส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อประชาชน ชุมชนและสังคม และการอภิบาลแบบคุณพ่อรู้ดี ที่ผู้มีอำนาจคิดแทนทำแทนประชาชนไปเสียทั้งหมด กำลังล้าสมัยไปตามลำดับ
 
   นโยบายสาธารณะที่ดี ควรมีลักษณะสำคัญ ๓ ประการ คือ หนึ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ หรือคนส่วนใหญ่ ถ้าทำแล้วคนส่วนน้อยได้ คนส่วนใหญ่เสีย อย่างนี้ย่อมไม่ใช่นโยบายสาธารณะที่ดี สอง ต้องมีหลักฐานข้อมูลทางวิชาการรองรับเพียงพอ ไม่ใช่นโยบายแบบคิดเอาเอง หรือลอกเลียนแบบที่อื่นมา ซึ่งอาจไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมก็เป็นได้ และสาม ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในทุกขั้นตอนของการกำหนดนโยบายนั้นๆ (อ้างอิง กุศล ๓ ของนโยบายสาธารณะ : ประเวศ วะสี)
 
   ถนนเลียบเจ้าพระยา ท่าเรือน้ำลึก การลงทุนพลังงาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ การขยายมาบตาพุต การแก้ปัญหาเขาหัวโล้น การจ่ายร่วมหลักประกัน บำนาญแห่งชาติ การขยายอายุเกษียณราชการ การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ การเพิ่มแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ฯลฯ เป็นตัวอย่างนโยบายสาธารณะทั้งสิ้น
 
   ดีใจที่ได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีพูดว่า นโยบายเรื่อง single gateway ต้องให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจว่าจะเอายังไง ไม่ใช่นโยบายของ ครม. เพียงลำพัง ที่ท่านพูดนี่ เป็นไปตามแนวคิดการอภิบาลแบบเครือข่าย (governance by network) ที่ต้องควบคู่ไปกับการอภิบาลโดยรัฐอย่างชัดเจน
 
   วันนี้มีเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากมาย รองรับสังคมที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) และปรับตัวมาใช้การอภิบาลแบบเครือข่าย(governance by network) มากขึ้น
 
   ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ก็มีเครื่องมือนโยบาย เช่น กระบวนการสมัชชาสุขภาพประเภทต่างๆ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ เป็นต้น มีการทดลองนำไปใช้เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะต่างๆพอสมควร โดยเน้นการให้คุณค่ากับทุกฝ่ายในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน มาร่วมรับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมติดตามประเมินผล
 
   เพื่อทำให้นโยบายสาธารณะหรืองานสาธารณะ เป็นของทุกภาคส่วน โดยทุกภาคส่วน เพื่อทุกภาคส่วน
 
   รัฐเองก็จะเบาแรงขึ้น ทุกฝ่ายก็จะได้สานพลัง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า อย่างสมานฉันท์ มั่นคงและยั่งยืน
 
   ความขัดแย้งก็จะได้บรรเทาเบาบางลงไปได้