‘เมียนมา’ ดูแล ‘เมียนมา’ พลังสำคัญหนุนเสริมมาตรการคุม ‘โควิด’

   เพื่อนภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ที่รวดเร็ว รุนแรง และจะยาวนานกว่าในระลอกแรกนั้น ผมมั่นใจว่า การร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการระดับพื้นที่ เพื่อหนุนเสริมมาตรการของภาครัฐนั้น เป็นแนวทางสนับสนุนการคลี่คลายปัญหาได้อย่างถูกจุด และตรงประเด็นเป็นอย่างมาก
 
   เพื่อนภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกแรกและระลอกสอง มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง
 
   บทเรียนที่เราได้จากการแพร่ระบาดระลอกแรกคือ การสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่-ชุมชน เปลี่ยนประชาชนที่กำลังตื่นตระหนกให้กลายมาเป็นผู้ตื่นรู้ กลับมาหนุนเสริมและช่วยกันเฝ้าระวังการระบาด ในมุมหนึ่งอาจพูดได้ว่าดอกผลที่เราได้ คือการสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนหรือ “วัคซีนชุมชน”
 
   ทว่าการระบาดระลอกสองนั้น กลับมีจุดเริ่มต้นที่ “แรงงานข้ามชาติ” กลุ่มคนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยขณะที่เกิดการระบาดใหม่ๆ พบว่ามีปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่งที่เกิดขึ้น
ของคนบางกลุ่มในลักษณะตีตรา “แบ่งเขา-แบ่งเรา” มองว่าแรงงานข้ามชาติคือต้นตอของปัญหา คือความไม่ปลอดภัยของคนไทย
 
   แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ค่อยๆ เบาบางลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเรียนรู้ของสังคมด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง เรียนรู้ว่าการเอาชนะโรคระบาด ทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทยต้องเป็นหนึ่งเดียว กลุ่มเปราะบางที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเสี่ยงที่สุดต้องได้รับการดูและป้องกันให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นๆ
 
   สำหรับแรงงานข้ามชาติ นอกจากมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ภายใต้วิกฤตโรคระบาดก็ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการ “ควบคุมโรค” อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่โรคกำลังระบาดอยู่นั้น หลักการทำงานคือต้องดึงให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันควบคุมโรคให้ได้
 
   มาตรการควบคุมโรคหลักของประเทศไทยคือ การลดปริมาณการเดินทางและการเคลื่อนตัวของประชากร ควบคู่ไปกับการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
  &nbspแน่นอนว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ภาคสังคมต้องช่วยกันหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ และสิ่งที่จะช่วยให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในพื้นที่เสี่ยงสูงที่มีแรงงานเมียนมามาก คือการทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เมียนมา ช่วยเมียนมา”
 
   แนวคิดหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่ายพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคือ การสร้าง “อาสาสมัครนิสิตพระเมียนมา” เพื่อช่วยกันควบคุมโรค ด้วยเห็นว่า “พระภิกษุสงฆ์” เป็นผู้นำความคิดและเป็นศูนย์ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ
 
   จากการหารือร่วมกันระหว่าง สช. มหาเถรสมาคม และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ทำให้ทราบว่าปัจจุบันมีพระเมียนมาที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศไทยราว ๕๗๐ รูป
 
   ทาง สช. จึงได้พูดคุยกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ สังคม และ มจร. ร่วมเป็นเจ้าภาพอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ “นิสิตพระเมียนมา” และนำไปสู่ “เครือข่ายอาสาสมัครนิสิตพระเมียนมา” พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเครื่องมือสื่อสารสังคม อาทิ ทำคลิปวิดีโอให้ความรู้ ให้กำลังใจ เทศน์เป็นภาษาเมียนมา ตลอดจนทำโปสเตอร์ภาษาเมียนมา เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่ม-เครือข่ายของกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป ในรูปแบบ “เมียนมา ช่วยเมียนมา”
 
   ส่วนการทำงานในระยะต่อไป สช. จะจับมือกับองค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปบทเรียน รวบรวมข้อเสนอ และจัดเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำไปสู่การสร้างระบบดูแลด้านสาธารณสุข ยกระดับคุณชีวิต และการอยู่ร่วมกันกับแรงงานข้ามชาติที่ทุกคนปลอดภัยให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้น โดยจะอาศัยเครื่องมือสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น หรือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔ ที่จะจัดขึ้นช่วงปลายปี ๒๕๖๔ นี้
 
   เหล่านี้คือภารกิจหนึ่งของ สช. ในการช่วยชาติ สู้ภัยโควิด-19 และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ และฟื้นคืนเศรษฐกิจของไทยให้ยั่งยืน
 
   และต่อสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ผมขอเชิญชวนเพื่อภาคีเครือข่ายทุกท่าน สานพลังส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวเมียนมาที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหาร ปกป้องประชาธิปไตย ให้ได้รับชัยชนะและทุกคนปลอดภัยจากโควิด-19 ครับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
 

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ