เร่งสร้างมาตรการของประชาชน-สร้างภูมิคุ้มกันสังคม สู้ภัยโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

   สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ก่อนหน้าดูเหมือนว่ากำลังจะคลี่คลายและลดระดับความรุนแรงลงหลังจากที่สามารถควบคุมการระบาดระลอกที่สองที่เริ่มจากแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครและขยายไปยังจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกรุงเทพฯได้ แต่กลับมาระบาดใหม่อีกครั้งเป็นระลอกที่สามเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดที่เริ่มต้นที่สถานบันเทิงของกลุ่มคนชั้นสูง มีฐานะ ใจกลางกรุงเทพฯ และแพร่กระจายเกือบครบทุกจังหวัดอย่างรวดเร็ว เป็นการระบาดของไวรัสที่ได้รับการยืยยันแล้วว่าเป็น “สายพันธุ์อังกฤษ” ซึ่งนอกจากจะระบาดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์ปกติถึง ๑.๗ เท่าแล้ว ผู้ติดเชื้อครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุไม่มาก ซึ่งชีวิตประจำวันผูกติดกับการเดินทางและการพบปะผู้คนเป็นจำนวนมาก และมักไม่แสดงอาการอีกด้วย ทำให้การป้องกันควบคุมโรคทำได้ยากมากขึ้น ประกอบกับมาตรการการให้วัคซีนของรัฐบาลที่เริ่มให้คนไทยเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และขณะนี้ครอบคลุมประชากรยังไม่ถึงร้อยละ ๑ จึงยังห่างไกลจากความคาดหวังให้เกิดภูมิต้านทานหมู่หรือภูมิต้านทานต่อโควิด-19 ในสังคม ที่ต้องให้วัคซีนครอบคลุมได้ถึงร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป
 
   และเมื่อการระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนไทยนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา และมีกิจกรรมพบปะกันมากกว่าปกติ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างที่น่าวิตก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่กำลังนำไปสู่สงครามกลางเมืองในประเทศเมียนมา และจะนำมาด้วยคลื่นผู้อพยพหนีภัยข้ามพรมแดนเข้าสู่ไทย ยิ่งทำให้สถานการณ์การระบาดน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
 
   ปรากฎการณ์ตื่นกลัวของประชาชนไปรับการตรวจคัดกรองจนล้น และในบางโรงพยาบาลเริ่มเกินกำลังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามปกติจะรับมือได้ มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกวันอย่างรวดเร็ว จนใกล้ถึงหลักพันคนต่อวันและมีการคาดคะแนว่าอาจขึ้นสูงถึงหลักหมื่นคนต่อวัน หลายจังหวัดต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอย่างเร่งรีบเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ป่วยระลอกใหม่นี้แล้ว
 
   เพื่อนภาคีเครือข่ายครับ ที่ผ่านมาพวกเราต่างมีบทเรียนดีๆ เป็นจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการทำงานหนักเพื่อรับมือกับภัยโควิด-19 หลายพื้นที่ประชาชนได้ร่วมกันจัดทำและขับเคลื่อน “มาตรการประชาชนและมาตรการชุมชน” เป็นภูมิต้านทานและคุ้มกันชุมชนของตน และภายใต้สถานการณ์การระบาดระลอกที่สามนี้มีความรวดเร็ว รุนแรง และอาจจะยาวนานขึ้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องจับมือกันให้แน่น ช่วยกันหยุดการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่นี้ให้ได้ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เรียกว่า “วัคซีนทางสังคม” หรือการสร้างมาตรการของประชาชนให้เป็น “ภูมิคุ้มกันสังคม” หนุนมาตรการให้วัคซีนของรัฐ ดังนี้
 
   ๑. สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนเปลี่ยนจากความตื่นกลัวเป็นตื่นรู้ เข้มงวดกับมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ด้วยการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง และติดตามข่าวสารจากแหล่งข่าวทางการที่เชื่อถือได้ รวมทั้งการเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมอยู่กับสถานการณ์ที่ปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างรู้เท่าทัน
   ๒. ร่วมกับทีมวิทยากรทุกอำเภอ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และอื่นๆ ทำการสื่อสารและสนับสนุนให้ รพ.สต. ร่วมกับ อบต./เทศบาล สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครอื่นๆ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันทบทวนหรือจัดทำขึ้นใหม่ และขับเคลื่อนข้อตกลงร่วมหรือมาตรการของประชาชนหรือธรรมนูญสู้ภัยโควิด-19 ของแต่ละตำบลและทุกชุมชนหมู่บ้าน อย่างจริงจัง
   ๓. ข้อตกลงร่วมหรือมาตรการของประชาชนหรือธรรมนูญสู้ภัยโควิด-19 ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและประชาชนของแต่ละตำบลและชุมชนหมู่บ้าน จะประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และฟื้นฟูดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงจากผลกระทบทั้งทางด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยแต่ละมาตรการจะกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงาน กลุ่มประชาชน ครอบครัว และประชาชนเป้าหมาย ไว้อย่างชัดเจนเป็นสัญญาประชาคมที่ง่ายในการปฏิบัติ
   ๔. หน่วยงานต่างๆ แกนนำองค์กรชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มประชาชน และทุกครอบครัวในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงร่วมหรือมาตรการของประชาชนหรือธรรมนูญสู้ภัยโควิด-19 ในพื้นที่ของตน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล หรือกองทุนอื่นๆ หรือทรัพยากรอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่
 
   เพื่อนภาคีเครือข่ายครับ ผมมั่นใจว่า ถ้าประชาชนมีความรอบรู้เท่าทัน ชุมชนมีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็ง ขณะที่ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆทั้งในระดับจังหวัดและประเทศมีการจับมือขับเคลื่อนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและเยียวยาดูแลกลุ่มคนที่ถูกผลกระทบอย่างอย่างรวดเร็วจริงจัง ประเทศไทยและคนไทยจะปลอดภัยจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ยากลำบากจากผลกระทบต่างๆครั้งนี้ไปได้ เฉกเช่นการระบาดระลอกหนึ่งและสองที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะพลังความร่วมมือของพวกเราภาคีเครือข่ายทุกองค์กรและบทบาทของประชาชนที่ตื่นรู้ในพื้นที่ เปรียบเหมือน “วัคซีนทางสังคม” ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าและยังสามารถไปเสริมมาตรการให้วัคซีนของรัฐบาลได้ครับ
 

ด้วยรักและศรัทธาครับ...นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ