คลอดแล้ว! ‘ธรรมนูญสุขภาพ กทม.’ คนกรุงเคาะกติกา ‘หาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน’

   สมัชชาสุขภาพ กทม. ครั้งแรกของประเทศ เห็นพ้องกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา “หาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะ” ตั้งเป้า 5 ปี บรรลุผล พร้อมให้ฉันทมติต่อ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ” สร้างกรอบ-ข้อตกลง กรุยทางสู่เมืองสุขภาวะบนวิถีชีวิตผู้คนที่หลากหลาย
 
   กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคีเครือข่าย จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เขตดินแดง กทม. เพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะที่ใช้เป็นกรอบหรือข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาบนความเห็นพ้องของคนทุกฝ่าย โดยมีผู้แทนหน่วยงาน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และแกนนำชุมชนต่างๆเข้าร่วมประชุมกำหนดอนาคตกรุงเทพฯ กว่า 300 คน และมีแกนนำชุมชนประชุมผ่านระบบออนไลน์อีกหลายพันคน
 
   ทั้งนี้ งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 มีการพิจารณาใน 2 ระเบียบวาระ ประกอบด้วย “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” และ “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันถกแถลง เสนอแนะ ปรับแก้เอกสารที่คณะทำงานวิชาการและผู้แทนส่วนได้ส่วนเสียได้ยกร่างมาก่อนหน้า ก่อนจะให้ฉันทมติเห็นชอบทั้ง 2 ระเบียบวาระ และมีพันธะในการขับเคลื่อนไปสู่เมืองสุขภาวะร่วมกันต่อไป
 
   สำหรับสาระสำคัญของระเบียบวาระหาบเร่แผงลอย และการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” อาทิ การวางเป้าหมายการจัดการปัญหาหาบเร่แผงลอยภายใน 5 ปี ซึ่งจะคำนึงถึงทั้งในแง่ของประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ ตลอดจนเสน่ห์ของ กทม. และในแง่ของปัญหา เช่น การจัดระเบียบ การสัญจร พื้นที่สาธารณะ โดยมีแนวทางการดำเนินงานที่น่าสนใจ อาทิ ชะลอการยกเลิกจุดผ่อนผันที่ยังเหลืออยู่ กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาพื้นที่ทำการค้า ประชาพิจารณ์และคัดเลือกผู้ค้าโดยเร็ว จัดตั้งกลไกระดับพื้นที่เพื่อบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ รวมถึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในการดำเนินงาน
 
   ขณะที่ระเบียบวาระธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ถือเป็นครั้งแรกที่ กทม.จะมีกติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะในมิติต่างๆ และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ กทม. พร้อมก้าวขึ้นสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี 2575 โดยมีแนวคิดสำคัญคือ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมเพิ่มการกระจายอำนาจ สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มุ่งหวังให้เกิดสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา สังคม แก่ประชากรใน กทม.ทุกกลุ่มวัย
 
   ในระยะแรก คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 13 กทม. จะเป็นกลไกในการประสานขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ร่วมกับกลไกระดับเขตเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินโครงการต่างๆ และระยะต่อมาจะให้ กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและติดตามธรรมนูญสุขภาพฯ ในหมวดต่างๆ โดยนำเอาหลักการมาใช้ประกอบการดำเนินงานทิศทางพัฒนา กทม. ในระยะ 10 ปี (พ.ศ.2563-2572)
 
   พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีการขยายตัวและเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้แนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ มีความซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมาขับเคลื่อนร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างอนาคตกรุงเทพมหานคร : เมืองแห่งสุขภาวะ และวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย” ที่จะสานพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อคลี่คลายปัญหา และเพิ่มเติมคุณภาพชีวิตของคน กทม.
 
   “สิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลต่อการพัฒนากรุงเทพมหานคร คือการนำนโยบายไปสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติหรือการขับเคลื่อน จึงอยากเชิญชวนคนกรุงเทพฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันและดำเนินการตามที่ทุกภาคส่วนได้ให้ฉันทมติร่วมกัน เพื่อนำพานโยบายสาธารณะ และมาตรการจัดการปัญญาที่ได้ในวันนี้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม” พล.ต.ท.โสภณ กล่าว
 
   รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ก่อนที่งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 จะจัดขึ้นนั้น ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาจากผู้แทนภาคส่วนต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการจัดและมีส่วนร่วมสมัชชาสุขภาพ นับตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญร่วมของ กทม. การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและระบบ การรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่ายและผู้มีส่วนได้เสีย การจัดกลุ่มเครือข่ายเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพเพื่อหาฉันทมติร่วมกัน
 
   รองประธานกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชากรุงเทพฯ กล่าว “ทั้งนี้ มติสมัชชาสุขภาพฯ ที่ทุกคนเห็นพ้องร่วมกันในวันนี้ จึงถือเป็นกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงในการสร้างนโยบายจากล่างขึ้นบน ซึ่งจะเป็นทิศทางการพัฒนาของ กทม.บนความเห็นชอบของคนทุกคน และเชื่อว่าทุกคนจะเข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุขภาวะของคนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก”

 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย นั่นจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละราย แต่ละหน่วยงาน หรือแต่ละองค์กร ต่างมีจุดแข็งและมีข้อจำกัดของตัวเอง ฉะนั้นการสานพลังประสานความร่วมมือและการใช้ข้อมูลทางวิชาการ จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาหรือขับเคลื่อนโยบายให้บรรลุผล โดยเฉพาะ กทม.ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกเข้ามาช่วยหนุนเสริม
 
   “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากคนทุกฝ่าย ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ได้จริง โดยปัจจุบันมีกระบวนการสมัชชาสุขภาพในทุกระดับ และมีธรรมนูญสุขภาพในระดับพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่สำหรับ กทม. แล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และจัดทำธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ขึ้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” นพ.ประทีป กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

ธรรมนูญสุขภาพ กทม.
ธรรมนูญสุขภาพ กทม.
ธรรมนูญสุขภาพ กทม.
ธรรมนูญสุขภาพ กทม.
ธรรมนูญสุขภาพ กทม.
ธรรมนูญสุขภาพ กทม.