‘ยกเครื่อง’ พื้นที่สาธารณะเมืองกรุง สร้างสมดุลการค้า-จัดระเบียบทางเท้าแบบมีส่วนร่วม

   สช. ระดมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหารือประเด็น “หาบเร่แผงลอย-พื้นที่สาธารณะ” ใน กทม. หวังสร้างสมดุลการค้าขาย-จัดระเบียบทางเท้า ผ่านการตั้งกลไกระดับเขตแบบมีส่วนร่วม พร้อมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสู่เวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ 26 พ.ย.นี้
 
   เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวข้อง ในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เรื่อง “การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ.2563 ภายใต้ประเด็นหลัก “ร่วมสร้างอนาคตกรุงเทพมหานคร เมืองแห่งสุขภาวะและวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ย.นี้
 
   นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น เปิดเผยว่า หาบเร่แผงลอยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามพัฒนาการของเมือง และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งผู้ค้า ผู้ซื้อ ผู้ใช้พื้นที่
ผู้ควบคุมดูแล ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละฝ่ายต่างมีมุมมองในเรื่องนี้หลากหลาย ดังนั้น การจัดการจึงควรตั้งต้นจากการกำหนดคำนิยามของหาบเร่แผงลอย พื้นที่สาธารณะ และการบริหารจัดการระดับพื้นที่ให้ตรงกันก่อน แล้วจึงจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สนับสนุนการจัดการพื้นที่แบบบูรณาการ รวมถึงจัดทำผังแม่บทการใช้พื้นที่สาธารณะอเนกประโยชน์ระดับเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะระยะยาว

 
   นายไชยณัฐ เจติญานุวัฒน์ ประธานคณะทำงานวิชาการ กรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา (สว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.มักถูกมองว่าเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย แต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ตำรวจมีบทบาทสำคัญมาก ดังนั้นทั้ง 2 หน่วยงานต้องจับมือกัน โดยเรื่องนี้ต้องมองใน 2 ด้าน ทั้งการสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจฐานรากจากผู้ขาย และความต้องการทวงคืนพื้นที่สาธารณะหรือทางเท้า ซึ่งต้องมีความสมดุลกัน “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ต้องหาจุดสมดุลที่ทุกกลุ่มยอมรับร่วมกัน ที่สำคัญต้องให้น้ำหนักกับประชาชนที่อยู่ตรงนั้นจริง โดยมีกรณีตัวอย่างที่ดีจากหาบเร่แผงลอยถนนข้าวสารที่จัดการสำเร็จเพราะผู้ประกอบการและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน” นายไชยณัฐ กล่าว
 
   นายประสิทธิ์ สิงห์ดำรง บริษัท บัดดี้กรุ๊ป ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการในถนนข้าวสาร กล่าวว่า ถนนข้าวสารเป็น 1 ใน 4 ถนน ที่ กทม.คัดเลือกให้เป็นถนนคนเดินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยและการจราจรบนถนน โดยมีการหารือร่วมกับเจ้าของอาคารและชุมชนในบริเวณ เพื่อหาข้อสรุปเรื่องเวลาที่เหมาะสมในการเปิด-ปิดถนน พร้อมกับการจัดระเบียบแผงค้า ทางเดิน ทางเท้าอย่างชัดเจน
 
   พตท.ภูมิสิทธิ ไตรพัฒน์ สว.ฝอ.บก.จร กล่าวว่า กองบังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า เรื่องหาบเร่แผงลอยในทางปฏิบัตินั้นมีเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ตำรวจจึงไม่ค่อยเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย และหากการค้าขายไม่สร้างความเดือดร้อนกับใคร ไม่กระทบการจรจรบนท้องถนน ซึ่งในช่วงเวลาที่จราจรหนาแน่นก็จะเข้มงวด ถ้าจราจรติดขัด ณ จุดหนึ่งจะส่งผลกระทบกับถนนอีกหลายสายที่เชื่อมต่อกันเป็นวงกว้าง แต่หลังช่วงเวลาจราจนหนาแน่นแล้ว ก็จะผ่อนปรนบ้าง แต่ถ้ามีการร้องเรียนในเรื่องหาบเร่แผงลอยตามจุดต่างๆ ก็จะให้เข้าไปดำเนินการ
 
   ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาบางอย่างไม่อาจตัดสินได้ด้วยอำนาจทางปกครองหรือกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะมีความแข็งตัวและบางครั้งก็ขัดแย้งกันเอง จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ทางสังคมที่เอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น และใช้องค์ความรู้เข้ามาตอบโจทย์ สร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาโดยยึดโยงกับหลักคิดเชิงสากลและรากเหง้าของการจัดการปัญหา
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยและพื้นที่สาธารณะถือเป็นประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คน และได้รับความสำคัญให้เป็นหนึ่ง
ในระเบียบวาระของงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 พ.ย.นี้ ควบคู่ไปกับ
การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ กทม. ซึ่งกระบวนการสมัชชาฯ จะเป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อยกร่างเป็นเอกสารข้อเสนอที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งจะช่วยปลดล็อคอุปสรรคและข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาได้

 
   รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปนานนท์ ประธานคณะทำงานสมัชชากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี ได้เกิดสมัชชาสุขภาพในทุกจังหวัดยกเว้นแต่เพียง กทม. ซึ่งมีความหลากหลาย ซับซ้อน จึงเป็นเรื่องยากในการแสวงหาฉันทามติร่วมกัน แต่ประเด็นหาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายเห็นถึงปัญหาร่วมกัน จึงถูกหยิบขึ้นมาในการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งแรกนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
 
   สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็น อาทิ การตั้งคณะกรรมการหรือกลไกระดับพื้นที่-ระดับเขต ซึ่งประกอบจากทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ เพื่อร่วมกันพัฒนากฎระเบียบในพื้นที่ ตรวจตรา สอดส่อง กำกับดูแล ร่วมกัน ตลอดจนการจัดทำผังแม่บทการใช้พื้นที่สาธารณะอเนกประโยชน์ระดับเมือง เพื่อบริหารจัดการพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ เช่น ทางเท้า หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ฯลฯ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):