รุดหน้า! พัฒนานโยบายการจัดการ ‘หาบเร่ แผงลอย’ หาจุดสมดุลพื้นที่สาธารณะ - กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

รุดหน้า! พัฒนานโยบายการจัดการ ‘หาบเร่ แผงลอย’ หาจุดสมดุลพื้นที่สาธารณะ - กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

   สช.- ภาคี ร่วมหารือวาระ “การจัดการหาบเร่ แผงลอย” ต่อเนื่องครั้งที่ 2 ชักชวนหลากภาคส่วนร่วมกัน “เช็คสต็อก-แมปปิ้ง” กระบวนการทำงาน หาจุดสมดุลของการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ที่เชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรม และการอยู่อาศัยร่วมกันของ คนเมือง พร้อมเดินหน้าพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่เวทีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ พ.ย.นี้
 
   “หาบเร่ แผงลอย” แม้จะฟังดูเป็นเรื่องอาชีพของพ่อค้าแม่ขาย แต่ก็เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวคนเมือง ทั้งใกล้ที่พักอาศัย ที่เรียน ที่ทำงาน ตลาด และพื้นที่สาธารณะรอบๆ ในแต่ละย่าน
 
   โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ยิ่งทำให้ภาพความสัมพันธ์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือวิถีสุขภาวะในภาพรวม เด่นชัดมากขึ้น
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัด เวทีปรึกษาหารือเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ครั้งที่ 2 เรื่อง “การจัดการ
หาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร”
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา

 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายจุดประสงค์ของเวทีวิชาการครั้งนี้ ซึ่งเน้นไปที่การ “เช็คสต็อก” และ “แมปปิ้ง” ภารกิจ ว่าภาคส่วนใดกำลังขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องกับหาบเร่แผงลอย เป็นอย่างไร และดำเนินการถึงไหนแล้ว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ จะถูกนำมาประกอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยให้มีความยั่งยืน
 
   “การประชุมในวันนี้ เชื่อมโยงกับการจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะจัดขึ้นราวเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ ก็มีอีกหลายเวที ทั้งการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายนโยบายที่จะมาหาข้อสรุปร่วมกัน” นพ.ประทีป อธิบาย
 
   เวทีเริ่มด้วยการสรุปภาพรวมเนื้อหาของการประชุมครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในครั้งนั้นที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า การจัดการหาบเร่แผงลอยจะไม่ใช่แค่เรื่องของการค้าขาย หรือเรื่องของแหล่งอาหาร แต่ยังเป็นการจัดการพื้นที่สาธารณะและวิถีชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้สัญจร รวมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล เป็นการเปิดมิติของเมืองที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
 
   ภาพรวมจากการประชุมในวันนั้น ยังได้มีการเปิดประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การใช้สอยพื้นที่สาธารณะร่วมกัน หรือ Co-Living space ซึ่งพื้นที่ค้าขายนอกจากสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ยังสร้างคุณค่าการเป็นเสน่ห์เมืองได้ การเป็นแหล่งอาหารที่สอดคล้องกับวิถีคนเมือง ตลอดจนเรื่องอาชีพและหลักประกันในชีวิตของคนจนในเมือง
 
   หลังจากนั้นที่ประชุม ได้เติมเต็มองค์ความรู้จากงานวิจัยและข้อเสนอนโยบาย เรื่อง “การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน” ของคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่เคยได้เสนอต่อกรุงเทพมหานครมารอบหนึ่งแล้ว ผู้เข้าร่วมเวทีได้หารือแลกเปลี่ยนกันถึงข้อเสนอด้านต่างๆ โดยมีทั้ง
ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และตัวแทนคนรุ่นใหม่ในเมืองได้สะท้อนข้อมูล ประสบการณ์ และมุมมองต่อเรื่องนี้ร่วมกัน

 
   ประเด็นหนึ่งที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง คือ ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าใน
ที่สาธารณะ
ที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

 
   ด้าน รศ.ภญ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ในฐานะคณะทำงานจัดสมัชชากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสภาพการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยที่ไม่ยั่งยืนที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องดีที่ สช. ได้จุดประเด็นให้แต่ละภาคส่วนมองเห็นปัญหาและข้อเสนอที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายร่วมกัน โดยเฉพาะประสบการณ์จากช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า วงปรึกษาหารือแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมมีกฎกติกาของสังคมในการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค เป็นเมืองของพวกเราทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):