สช.จับมือภาคี ปักธง! ขับเคลื่อนสุขภาวะ “กรุงเทพฯ” ระดมสมองวางอนาคต ‘หาบเร่แผงลอย’

สช.จับมือภาคี ปักธง! ขับเคลื่อนสุขภาวะ “กรุงเทพฯ” ระดมสมองวางอนาคต ‘หาบเร่แผงลอย’

   “กรุงเทพมหานคร” เมืองฟ้าอมรที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย เป้าหมายของนักแสวงหาที่พากันฝากความคาดหวัง เมืองหลวงแห่งนี้คือโอกาส คือความท้าทาย และคือลมหายใจของคนมากกว่า 10 ล้านคน
 
   ระบบนิเวศน์ของกรุงเทพมหานครเชื่อมร้อยกันด้วยชีวิต ความสัมพันธ์ผูกโยงกันจากหนึ่งเป็นสอง จากสองขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตลอด 24 ชั่วโมงของกรุงเทพฯ จึงไม่มีช่วงเวลาใดเลยที่เมืองหลับใหล
 
   “หาบเร่แผงลอย” นับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่อยู่คู่กับกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน มุมหนึ่งคือมนต์เสน่ห์และความแตกต่าง แต่อีกมุมถูกมองว่าคือ ต้นทางของปัญหาที่นำมาซึ่งความระเกะระกะไร้ระเบียบ
 
   ไม่ว่าเราจะมอง “หาบเร่แผงลอย” ด้วยเหลี่ยมมุมใด ก็ไม่อาจปฏิเสธการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยในวันนี้ และสืบต่อไปในอนาคตได้
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งวงพูดคุยกันเรื่อง “หาบเร่แผงลอยกับภาพอนาคตของกรุงเทพฯ” ซึ่งอยู่ภายใต้เวทีปรึกษาหารือเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมการพูดคุยดังกล่าว ได้รับความสนใจและได้รับความร่วมมือจากทั้งฟากฝั่งวิชาการ ประชาสังคม ตลอดจนผู้แทนจากภาครัฐ โดยโจทย์ใหญ่ของการพูดคุยเป็นไปตามที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว “จะทำอย่างไรให้มิติของ Healthy City อยู่ร่วมกับ Smart City ได้”
 
   ก่อนจะเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังการสรุปสถานการณ์และข้อเสนอที่เคยศึกษามาแล้วจากผู้ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้โดยตรง
 
   ประกอบด้วย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางพูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และผู้แทนจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC)
 
   ถัดจากนั้น นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ดำเนินกระบวนการ “Shear Vision & Share Passion” ใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
 
   1. วิถีชีวิตเมืองคืออะไร มีใครอยู่ร่วมกันบ้าง แต่ละคนมีความสำคัญต่อกันและกันอย่างไร
   2. เศรษฐกิจของเมืองควรขับเคลื่อนด้วยอะไร เพื่อให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองอยู่รอดร่วมกันได้
   3. การออกแบบเมือง จะใช้แนวคิดหรือหลักการใดในการจัดการพื้นที่

 
   การแลกเปลี่ยนเปลี่ยนเริ่มขึ้นอย่างเปิดกว้าง นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง เล่าว่า คนทำงานเรื่องเมืองมีกำหนดที่จะพูดคุยกันทุกๆ 2 ปี โดยล่าสุด มีการพูดคุยกันถึงอนาคตเมือง และภารกิจบนทางเท้า รวมถึงปัญหาหาบเร่แผงลอย “ทุกคนเห็นร่วมกันว่าการแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยต้องมองไปที่อนาคตของเมือง ต้องแยกปัจจัยและองค์ประกอบออกมาเป็นแง่มุมๆ ให้ชัดเจน เช่น มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม จากนั้นจึงจะวางแนวทางแก้ปัญหาได้”
 
   ด้าน นางทิพยรัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ แสดงความคิดเห็นว่า หาบเร่แผงลอยไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ฉะนั้น การออกแบบต่างๆ จำเป็นต้องดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาพูดคุยกันอย่างครอบคลุม
 
   “กระบวนการการมีส่วนร่วมอาจเริ่มจากผู้ที่เกี่ยวข้องในย่านก่อน จากนั้นค่อยขยับไประดับเขต ยืนยันว่าหาบเร่แผงลอยไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสของประเทศ” นางทิพยรัตน์ ย้ำ
 
   มุมมองของ นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นควรให้พุ่งเป้าการขับเคลื่อนไปที่ “นโยบายของ กทม.” เป็นหลัก รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับรัฐบาลท้องถิ่นด้วยว่าจะยอมรับนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่
 
   “แผงลอยมีหลายระดับ ตั้งแต่คนเล็กคนน้อย ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ ฉะนั้นนโยบายและรูปแบบต้องตอบโจทย์คนเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด” นางอรพรรณกล่าวและว่า ที่จริงแล้วปัญหาหาบเร่แผงลอยเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ร่มใหญ่ของเรื่องนี้คือ Shearing space ในลักษณะเดียวกับเรื่องพื้นที่สาธารณะ ถนนสาธารณะ ฉะนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ สช. อาจจะจัดเวทีในประเด็น Shearing space สัก 2-3 ครั้ง เพื่อให้เห็นภาพใหญ่
 
   “เชื่อว่าเวทีเหล่านั้น จะทำให้เราได้มุมมองและข้อเสนอที่ชัดเจนขึ้น และขณะนี้ก็มีผู้ที่เปิดตัวชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะชักชวนบุคคลเหล่านั้นเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย” นางอรพรรณ ระบุ
 
   นพ.ประทีป ปิดท้ายการพูดคุย โดยเล่าถึงแผนการของ สช.ในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งมีธงที่จะจัดสมัชชาสุขภาพ โดยหยิบประเด็นของ กทม. ขึ้นมา ให้ภาคส่วนต่างๆ ได้พูดคุยหารือร่วมกัน จนนำไปสู่การมีข้อตกลงร่วมกันอย่างหนึ่งอย่างใด
 
   ในส่วนของหาบเร่แผงลอย นพ.ประทีป สรุปว่า 1. ถัดจากนี้ ควรมีทีมวิชาการ ทำหน้าที่รวบรวมงานวิชาการและพัฒนางานต่อไปเรื่อยๆ 2. ต้องมีการสื่อสารและสร้างกระแสสังคม เพื่อขยายการรับรู้ไปสู่วงกว้าง ตลอดจนชักชวนภาคีเครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น 3. ราวเดือนตุลาคมนี้ คาดว่าจะชักชวนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อทำงานเรื่อง กทม. ในระยะยาวร่วมกันได้ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):