กรุงเทพฯ เปิดพื้นที่ ‘ความคิดเห็น’ สู่ ‘มหานครแห่งสุขภาวะ’

สมัชชากรุงเทพมหานคร

   เมืองฟ้าอมรอย่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ หรือ ‘กทม.’ ศูนย์กลางความเจริญและเป็นแหล่งรวมของประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีความสลับซับซ้อนที่สัมพันธ์โดยตรงกับทั้งวิถีชีวิต ความหลากหลายของผู้คน ความเชื่อ-วัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนมิติทางเศรษฐกิจและเศรษฐานะ นำมาสู่ปัญหาที่มีลักษณะลงลึกและค่อนข้างจำเพาะ
 
   หากพูดถึงการแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จึงไม่อาจทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวหรือเพียงองค์กรเดียว หัวใจของการคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้แนวทางการ “สานพลัง” และ “กระบวนการมีส่วนร่วม”
 
   

ร่วมกำหนดอนาคตเมืองกรุง

br />
 
   นั่นเป็นที่มาของความร่วมไม้ร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันระดมสมอง ออกแบบนโยบาย วางจังหวะก้าว เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งในหนึ่งในเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐
 
   จุดเริ่มต้นของ “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ได้ก่อเกิดขึ้น โดยมีกลไกการทำงานคือคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ซึ่งได้จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๕๖๓ ณ ศาลาว่าการ กทม. เขตดินแดง เพื่อแสวงหาฉันทมติต่อการแก้ไข “ปัญหาร่วม” ของคนกรุง ท่ามกลางมาตรการเข้มในการป้องกันโรคโควิด-19 งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๑ จึงจำกัดผู้เข้าร่วมเพียง ๓๓๕ คน ทว่ามีการเชื่อมต่อสัญญาณไปยังทุกพื้นสำนักงานเขตเพื่อเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งจัดถ่ายทอดสดผ่าน Facebook fanpage ของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
 
   

‘สองมติ’ สมัชชาสุขภาพ กทม. ครั้งที่ ๑

 
   ทั่วไปอาจมองว่า หาบเร่แผงลอยเต็มไปด้วยความระเกะระกะ ไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งที่คนกรุงรู้สึกรำคาญเพราะถูกรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ทว่าอีกมุมหนึ่ง หาบเร่แผงลอยกลับคือโอกาส รายได้ และเสน่ห์ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ที่พบว่า หาบเร่แผงลอยมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศอาหาร ช่วยให้คนกรุงยังชีพและประทังชีวิตได้ในสถานการณ์อันยากลำบาก พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ จึงมุ่งไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เน้นในเรื่องของการ “สร้างความสมดุล” เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
 
   หลังจากถกแถลงกันอย่างกว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติของเนื้อหาแล้ว สมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ มีฉันทมติใน ๒ ระเบียบวาระ โดยไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว ประกอบด้วย ๑. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ๒. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร
 
   โดยมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ ๑๓ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และ นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ร่วมกันทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๑
 
   ด้าน พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. หนึ่งในตัวแทนผู้ร่วมขบวนการสร้างเสริมสุขภาพให้กับคนกรุง กล่าวว่า สสส. มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีงานวิชาการหรือข้อมูลและความรู้เชิงประจักษ์เป็นฐานในการตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกในพัฒนา แก้ไขปัญหาร่วมกัน ถือเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม สอดคล้องกับการทำงานตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสุขภาพของประชาชน ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยแก้ปัญหากรุงเทพได้อย่างตรงจุด และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกรุงเทพยิ่ง ๆ ขึ้นไป
 
   

เดินหน้าต่อ! สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ ๒

 
   คจ.สก. ได้ตั้งวงพูดคุยเพื่อหารือถึงการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๒๕๖๔ ก่อนจะมีมติกำหนดจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ ๒ ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ นี้ โดยเปิดพื้นที่รับการเสนอประเด็นจากประชาชนและภาคีเครือข่าย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้อย่างสมานฉันท์ พัฒนาสู่การเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน
 
   สำหรับประเด็นที่ประชาชนและภาคีเครือข่ายจะเสนอ ควรมีลักษณะการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่สำคัญ และมีความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือ ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเปิดรับการเสนอประเด็น ถึงวันจันทร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๔ นี้ หากมีประเด็นที่ส่งมาล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ คจ.สก.จะพิจารณาช่องทางการสร้างการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมต่อไป
 
   ทั้งนี้ ประชาชนภาคีเครือข่ายสามารถเสนอประเด็นได้ ๒ ช่องทาง โดย ๑. กรอกข้อมูลผ่าน QR Code ๒. ช่องทาง https://qrgo.page.link/sGyof และสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://qrgo.page.link/8SvDo
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):