หัวใจการขับเคลื่อนนโยบายผ่านกลไก ‘4PW’

   ที่ประชุมถ่ายทอดประสบการณ์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผ่านกลไก 4PW พื้นที่ ก่อนจะสรุป “หัวใจความสำเร็จ” 4 ประการ ‘เปิดพื้นที่กลาง-สร้างประเด็นร่วม-ใช้ความรู้นำ-เคลื่อนเป็นขบวน’
 
   เพียง 2 ปี (2560-2562) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้เสริมพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ภายใต้กลไก “คณะทำงาน 4PW ระดับจังหวัด” เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมการขึ้นรูปของประเด็นต่างๆ 82 พื้นที่ทั่วประเทศ รวม 237 ประเด็น
 
   การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างสังคมสุขภาวะ ต้องอาศัยการสานพลังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานระดับจังหวัดที่มีความจำเพาะและแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ขับเคลื่อนต้องหันกลับมาถอดบทเรียน เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง อันเป็นที่มาของการตั้งวงพูดคุยหัวข้อ “ทิศทางใหม่ของการทำงานเพื่อสร้างชุมชน-สังคมสุขภาวะ” ภายในงานสรุปบทเรียนและวางแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา (4PW) ระดับพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562
 
   สุวณี สมาธิ ผู้แทนเครือข่ายฯ ภาคใต้ จากจังหวัดตรัง ที่เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเริ่มต้น ซึ่ง จ.ตรัง เป็น 1 ใน 8 จังหวัดนำร่องใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพในปี 2551 ซึ่งในเวลานั้นจึงยังมีความเข้าใจไม่ชัดเจนว่าเครื่องมือสมัชชาคืออะไร และคงติดภาพที่น่ากลัวของการเป็นม็อบประท้วงต่างๆ อย่างสมัชชาคนจน ฯลฯ แต่เมื่อดูจากนิยามความหมายว่าเป็นเครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม อีกทั้งมีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานที่ช่วยสานต่อนโยบายไปสู่ระดับประเทศได้ ไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย จึงมีการรับนำเข้ามาในพื้นที่ พร้อมกับดึงภาคีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม
 
   “ภาคประชาชนในพื้นที่เองก็มีการรวมตัวเป็นกลุ่มต่างๆ กันอยู่แล้ว ฉะนั้นการมารวมกันเพื่อพูดคุยเป้าหมายการขับเคลื่อนที่เป็นโจทย์ใหญ่ โดยคลี่ดูสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนตรังว่ากำลังเผชิญกับอะไร จึงเกิดความเป็นภาคีที่ทุกภาคส่วนมีโจทย์กลางร่วมกัน และเป็นจุดที่ทำให้สามารถเดินหน้ามาได้ไกลนับจากปี 2551 เป็นต้นมา” นางสุวณี ระบุ
 
   ถัดมาที่ วิรัช มั่นในบุญธรรม ผู้แทนเครือข่ายฯ ภาคอีสาน จากจังหวัดขอนแก่น เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า แม้ช่วงแรกจะยังมีความไม่เข้าใจสมัชชา และกลัวว่าจะเป็นรูปแบบม็อบ แต่เมื่อเข้ามาสัมผัสได้กระบวนการทำงานที่เป็นเครือข่าย ได้ซึมซับและถอดบทเรียนจนเกิดเป็นแนวคิดการทำงาน ทำให้สามารถขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ได้ง่าย แม้เป็นประเด็นที่ยาก แต่เมื่อลงพื้นที่จริงก็ได้มีเครือข่ายการทำงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยในเวลานั้นมีการขับเคลื่อนเรื่อง KhonKaen Smart City ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นของคนเมืองเป็นหลัก จึงเกิดการขับเคลื่อนคู่ขนานเป็น KhonKaen Smart Province เพื่อเชื่อมไปสู่กลไกของท้องถิ่น ให้ทุกอำเภอสมาร์ทไปพร้อมกัน โดยจากการตกผลึกร่วมกัน พบว่าประเด็นที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนในการพัฒนาเมือง 5 เรื่องคือ การจัดการน้ำ การจัดการขยะ มลพิษทางอากาศ สารเคมีเกษตร และป่าชุมชน
 
   “ขณะนี้จึงได้มีการประสานกันระหว่าง 9 องค์กรภาคี ที่ลงนามความร่วมมือจัดทำสมัชชาสิ่งแวดล้อม ด้วยงบประมาณจากการลงขันร่วมกัน พร้อมจัดทำโรดแมปและข้อมูล ซึ่งได้ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย และเครือข่ายพันธมิตรมากมาย แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดก็เล็งเห็นความสำคัญและเข้ามารับข้อเสนอต่างๆ ด้วยตัวเอง” นายวิรัช ระบุ
 
   ด้านผู้แทนเครือข่ายฯ ภาคกลาง ศิวโรฒ จิตนิยม จากจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า โจทย์เริ่มต้นของพื้นที่คือ การสร้างสุขภาวะชุมชนเพื่อให้คนมีความสุขที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการพูดคุยทบทวนกันว่าขณะนี้มีความสุขหรือความทุกข์ใดกันหรือไม่ ต่อมาเป็นการเฟ้นหาผู้นำ ให้มาเป็นผู้ออกแบบการพัฒนา มีการทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อวางแผนแก้ไขความทุกข์ของพื้นที่ และสุดท้ายที่ทำให้ดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน คือการมีธรรมนูญความสุขชุมชน เป็นข้อตกลงร่วมของทุกคน มีการสร้างระบบธนาคารความดี ธนาคารเวลา เป็นต้น
 
   “เมื่อพบว่าหากใช้เงินเป็นเป้าหมาย ตำบลนี้ไม่ผ่านเส้นยากจนของประเทศ แต่เมื่อเร่งหาเงินจนผ่านเส้นนั้นมาได้แล้วก็กลับไม่มีความสุข จึงมีการปรับใช้ความสุขเป็นเป้าหมาย ให้เงินทุกบาทที่ได้มาต้องทำให้คนมีความสุข” นายศิวโรฒ ระบุ
 
   ขณะที่ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้แทนเครือข่ายฯ ภาคเหนือ จากจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลถึงภาพการทำงานของภาคประชาสังคมในจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนในประเด็นการจัดการทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน รวมถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ต่างๆ และภายหลังการมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่สนับสนุนขบวนการภาคประชาชน จึงก่อให้เกิดภาคประชาสังคมที่มีองค์ประกอบหลากหลายมากขึ้น ซึ่งภายใต้กระบวนการที่ต้องเชื่อมความหลากหลาย ทำให้การขับเคลื่อนจะทำเรื่องสมัชชาสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ จึงเกิดเป็นกลไกที่เรียกว่าสมัชชาพลเมืองขึ้น ให้เห็นว่าสามารถขับเคลื่อนร่วมกันได้ไม่ว่าจะมาจากเครือข่ายใด ซึ่งแม้ในตอนแรกอาจยังไม่สามารถหลอมรวมได้ แต่เมื่อช่วงหลังมีประเด็นร่วมขึ้น เช่น หมอกควัน จึงเริ่มมีการหลอมรวมและเคลื่อนไปด้วยกันมากขึ้น
 
   ทั้งนี้ ภายหลังกระบวนการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทางและแผนการพัฒนาต่างๆ สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ สช. ได้สรุปว่า สิ่งสำคัญที่เห็นนั้นคือเป้าหมายของทุกคนล้วนมีความชัดเจน คือ ‘การสร้างสังคมสุขภาวะ’ โดยรายละเอียดและวิธีการที่แตกต่างกันตามบริบท
 
   สำหรับกระบวนการทำงานที่จะบรรลุไปสู่เป้าหมาย มี 4 เรื่องสำคัญที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือ 1.การพัฒนากลไกจังหวัดให้เป็นพื้นที่กลาง และการหาเพื่อนหรือภาคีเครือข่ายในการทำงาน 2.การหาเรื่อง หากสร้างแต่พื้นที่แต่ไม่มีประเด็นขับเคลื่อนร่วมกัน สุดท้ายเพื่อนก็จะหาย ดังนั้นต้องมีประเด็นร่วมที่ชัดเจน ยิ่งถ้าเป็นประเด็นที่มีจุดร่วมมากเท่าไรก็จะสามารถดึงคนมาร่วมได้มากเท่านั้น 3.การใช้ความรู้และข้อมูลเสริมให้ประเด็นการทำงาน และ 4.การประสานกับภาคีที่มีความหลากหลาย ซึ่งแม้ตามกลไกจะระบุไว้ว่าให้มีสามภาคส่วน แต่ในหลายจังหวัดกลับยังเป็นเพียงคำสั่งแต่งตั้ง แต่ไม่มีบทบาทจริง ดังนั้นจึงต้องคำนึงและทำให้เกิดขึ้นจริงได้ด้วย
 
   นายสมเกียรติ สรุปต่อในส่วนบทบาทการสนับสนุนของ สช. ที่ภาคีเครือข่ายต้องการ อันดับแรกคือทิศทางของ สช. ในการประสานเชิงนโยบายส่วนกลางให้มากขึ้น เพื่อสามารถตอบสนองต่อการทำงานของพื้นที่ได้ โดยส่วนนี้อาจต้องอาศัยข้อมูลและเสียงสะท้อนจากเครือข่ายพื้นที่ว่ามีประเด็นใดที่สำคัญ ต้องการการเปิดทางหรือหนุนเสริมในด้านใด หรือมีภาคีส่วนใดที่น่าเดินไปจับมือ
 
   “เครือข่ายวันนี้ได้ให้ความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ซึ่ง สช. จะนำเอาทุกความเห็นไปประมวลรวม และหาจุดกึ่งกลางของสำนักงานในการทำงานที่สนับสนุนพวกเราให้ได้มากสุด มีประสิทธิภาพที่สุด ตอบสนองต่อข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ให้ได้ลงตัวที่สุด” นายสมเกียรติ ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143