ตอนที่ 3 ความละเอียดอ่อนทาง ‘เพศ’ คือต้นทางสร้าง ‘สุขภาวะครอบครัว’

   อีกเพียง 2 เดือน งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ก็จะเปิดฉากขึ้น โดยปีนี้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้ประกาศระเบีบบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณาจัดทำเป็นนโยบายสาธารณะใน 4 เรื่องใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ “วิถีเพศภาวะ : เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ที่นับเป็นรากฐานของการสร้างความเข้มแข็งทางสังคม และมีความสำคัญเชิงประเด็นในระดับนานาชาติ
 
   โค้งสุดท้ายของการทำงาน คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นฯ ที่นำโดย ศ. ศิริพร จิระวัฒน์กุล ประธานคณะทำงานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ระดมสมองเพื่อพัฒนา “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” จนเกือบจะสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
   เพราะ ‘กระบวนการการมีส่วนร่วม’ คือหัวใจสำคัญของการพัฒนานโยบายสาธารณะที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือ “สังคมสุขภาวะ” และเพื่อทำให้ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ มีความแหลมคม เป็นที่ยอมรับ และนำไปสู่รูปธรรมการขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างแท้จริง คณะทำงานฯ จึงได้เปิดวงเพื่อ “รับฟังความคิดเห็น” จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวาง
 
   ความเห็นจากที่ประชุมที่ได้ตกผลึกร่วมกันคือ การ “พุ่งเป้า” ไปที่การรับรู้ของครอบครัวและสังคม เพราะเมื่อเกิดปัญหาทางสังคม ครอบครัวคือสถาบันแรกที่ต้องแก้ไข
 
   ดังนั้นวิธีคิดในการขับเคลื่อนจะต้องมี “สุขภาวะครอบครัว” เป็นฐานและเป็นเป้าหมาย โดยมติสมัชชาสุขภาพฯ จะใช้ Gender approach (วิถีเพศภาวะ) ในการทำให้สุขภาวะครอบครัวดีขึ้นและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดก็คือเรื่อง “เพศภาวะ” หรือ Gender
 
   สำหรับเพศภาวะ เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แล้วส่งผลเข้ามาในครอบครัว จนทำให้สุขภาวะของครอบครัวดีขึ้นหรือลดลง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสมอภาค การยอมรับในความหลากหลายทางเพศ หรือการปรับทัศนคติ ก็นับเป็นหนึ่งใน Gender approach
 
   เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ที่ปรึกษาอนุกรรมการวิชาการ ยกตัวอย่างว่า มติสมัชชาสุขภาพฯ จะช่วยให้หน่วยงานรัฐออกนโยบาย กฎหมาย มาตรการ แนวปฏิบัติ หรือหนังสือเวียน โดยคำนึงถึงเรื่องเพศภาวะ ฉะนั้นนโยบายสาธารณะทั่วประเทศก็จะมีมุมมองในเรื่องเพศภาวะ แต่เราจะเริ่มต้นที่เรื่องใกล้ตัวที่สุดนั่นก็คือ “สุขภาวะครอบครัว”
 
   นพ.สมชาย พีระปกรณ์ อนุกรรมการวิชาการ ขมวดประเด็นว่า ที่จริงแล้วคำว่า “วิถีเพศภาวะ” หมายถึงการทำงาน ดังนั้นสิ่งที่มติสมัชชาสุขภาพฯ บอกก็คือ การทำงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายซึ่งก็คือสุขภาวะของครอบครัวนั้น จำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนเรื่องเพศภาวะ
 
   “คุณจะทำให้เกิดสุขภาวะในครอบครัวได้ ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง ครอบครัวมีความสุข ก็ต้องเสริมพลังครอบครัว แล้วจะเสริมอย่างไร ก็เสริมโดยการดำเนินงานที่มีความละเอียดอ่อนทางเพศ นี่คือหัวใจของมติสมัชชาสุขภาพฯ เรื่องนี้” นพ.สมชาย สรุป
 
   สำหรับการจัดทำ “ร่างเอกสารหลัก-ร่างข้อมติ” ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเขียน-ภาษา เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจ เพราะเอกสารเหล่านี้จะต้องสื่อสารกับคนหลายพันคนในงานประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และคนอีกหลายหมื่นคนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน นอกจากนี้ต้องสร้างความชัดเจนในกระบวนการขาขึ้น โดยเฉพาะร่างข้อมติที่ต้องชี้ให้เห็นว่าใครคือเจ้าภาพหลัก หรือหัวรถจักรในการขับเคลื่อนงาน
 
   ตลอดระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง ของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลอมรวมออกมาเป็นข้อเสนอนโยบายของร่างระเบียบวาระ “วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว” ที่ผ่านการยอมรับเบื้องต้นจากที่ประชุม
 
   “การใช้วิถีเพศภาวะเป็นเครื่องมือให้เกิดความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะในการขับเคลื่อนทางบวกต่อการเสริมพลังสุขภาวะครอบครัว ที่มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมระหว่างบุคคลเพศต่างๆ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย และผู้หลากหลายทางเพศ เพื่อนำไปสู่การมีครอบครัวและสังคมที่มีสุขภาวะ มีความมั่นคง และสงบสุข” คือ Policy Statement ที่สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จะร่วมกันพิจารณาในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2562
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143