สช. จับมือเพื่อนภาคี ร่วมภารกิจขับเคลื่อน “ต้านมะเร็ง”

   ไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนมีความเสี่ยงกับ “มะเร็ง” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
 
   “มะเร็ง” ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครองแชมป์สาเหตุการตายมานานกว่า 20 ปี และถึงแม้ทุกวันนี้ จะมีการพัฒนายาแบบพุ่งเป้าต่อโรค ตลอดจนมีวิธีการรักษาที่ล้ำสมัย หากแต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว
 
   มะเร็ง...ไม่ใช่เรื่องบาปบุญหรือเวรกรรม แต่เป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม นั่นหมายความว่า มะเร็งสามารถยับยั้งได้ ถ้าเจ้าของสุขภาพมีความตระหนักรู้ และเบนเข็มออกจากปัจจัยเสี่ยง
 
   เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาเรื่องมะเร็งถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 โดยสมาชิกสมัชชาฯ มีฉันทมติร่วมกันที่จะขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ว่าด้วย “รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง” ให้เกิดขึ้นจริง เพราะต่างเห็นพ้องถึงสถานการณ์ของปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเชื่อมั่นตรงกันว่า “ชุมชน” คือฐานอันมั่นคงในการรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพเรื่องนี้
 
   ทั้งหมด นำมาสู่การจัดประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 มติ 12.3 รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่มี ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ชวนผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรภาคีร่วมหารือ
 
   “การประชุมในวันนี้ เป็นเวทีที่ได้พบปะกับเพื่อนที่ทำงานอยู่กับปัญหานี้ ที่หลากหลายหรือคล้ายคลึงกัน เป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพิจารณาว่า จะจับมือทำงานร่วมกันได้อย่างไร และจะใช้เวทีสมัชชาฯ ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานได้อย่างไร” รองฯวีระศักดิ์ เริ่มต้นพูดคุย และเปิดพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น
 
   ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่าการขับเคลื่อนงานด้านมะเร็งในทุกวันนี้ การทำงานหลักยังอยู่ที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ จึงเสนอให้ผลักดันการขับเคลื่อนในภาคประชาชนที่เป็นเจ้าของสุขภาพตนเองให้มากขึ้น
 
   “มติฯ นี้ มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนให้สังคมตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรอง รวมถึงสิทธิการรักษาที่เหมาะสม” ดร.ศุลีพร ขมวดประเด็น และอภิปรายต่อไปว่า การสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น เครือข่ายผู้ป่วย การใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพท้องถิ่น เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้สำเร็จ
 
   ตัวแทนภาคประชาชนอย่าง นางสาวศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง แลกเปลี่ยนว่า พันธกิจหลักที่มูลนิธิฯ จะเดินหน้าภายในปีนี้คือ “การสร้างช่องทางสื่อสาร” เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากมะเร็งผ่านแอพพลิเคชั่น คาดว่ากลางปีนี้จะได้เห็นเวอร์ชั่นแรก นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหลักสูตรผู้นำเครือข่ายมะเร็ง หรือ Cancer School เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดกรองมะเร็งที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียว โดยตั้งเป้าการฝึกอบรมให้ได้ 150 คน
 
   ขณะที่ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ได้บอกเล่าและถอดบทเรียนการตรวจ
คัดกรองมะเร็ง โดยยกตัวอย่างการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ได้ดำเนินการในทุกจังหวัด แต่ทำได้เพียง 60% เนื่องจากประชาชนไม่เห็นความสำคัญและรู้สึกอายที่จะมาตรวจ

 
   “ที่ผ่านมาเป็นการทำงานของภาครัฐอย่างเดียว ไม่ได้เปิดให้ภาคประชาชนเข้ามาช่วย ซึ่งสมัชชาสุขภาพได้ช่วยให้มุมมองและวิธีคิดการทำงานแนวใหม่ ที่ควรสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชนมากขึ้น” พญ.ปฐมพร กล่าว
 
   พญ.จุรีพร คงประเสริฐ รองผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา มีแผนงานด้านมะเร็งที่สำคัญ เช่น การป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่มีเป้าหมาย 29 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 6, 7, 8, 9 และ 10 ให้ประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถเข้าตรวจคัดกรองได้ที่ รพ.สต. และรักษาผู้ที่มีอาการโรคทุกรายโดยใช้สิทธิ สปสช. ซึ่ง นางสาวชลกร ภู่สกุลสุข กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แจ้งว่า อสม. ในจังหวัดดังกล่าวได้ร่วมดำเนินงาน ซึ่งใช้แบบการตรวจคัดกรองจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
   นายชัยพร กาญจนอักษร กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาโดยถอดบทเรียนการดูแลผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะสุดท้ายจากวัดคำประมงที่มีการรักษาแบบประคับประคอง นำไปขยายผลยังโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงการรวบรวมองค์ความรู้ ดึงศักยภาพจากหมอพื้นบ้าน วัดและโรงเรียนมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยในชุมชน
 
   ความเห็นที่น่าสนใจต่อการขับเคลื่อนในช่วง 2 ปีข้างหน้า มาจาก นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่เสนอว่า ควรหาวิธีการที่ทำให้ประชาชนมาตรวจคัดกรองเพิ่มขึ้นให้ถึงร้อยละ 90 โดยเฉพาะมะเร็งที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายในระยะเริ่มแรกได้ เช่น ขอความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็งหรือกลไกภาคประชาชนอื่นในพื้นที่ช่วยไปกระตุ้น เชิญชวน ติดตาม และมี Mobile Unit ที่บุคลากรเป็นผู้หญิง ไปตามบ้านในชุมชนที่มีกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสร้างกระแสข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อกระตุ้นสังคมอย่างต่อเนื่อง และ พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่เสนอให้เชื่อมกับหลักสูตรการเรียนการสอนของแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวและแพทย์อายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
 
   ในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ แจ้งว่า “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยินดีเป็นแกนประสานกลางในการผลักดันกลไกทางนโยบาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนงานในประเด็นภายใต้ความรับผิดชอบของภาคีต่างๆ ต่อไป”
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147