‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้’ ‘เชื้อดื้อยา-ยุงลาย-ฆ่าตัวตาย’

   เมื่อสุขภาพเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ซ้ำปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ส่งผลให้เชื้อโรคและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ฝุ่น หมอกควัน เกิดขึ้นอย่างมากมาย การแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยจึงต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การควบคุม-ป้องกัน-รักษา-ฟื้นฟู ให้มีประสิทธิภาพเท่าทัน จำต้องมีการสานพลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และครอบคลุมทุกประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเร่งพัฒนา
 
   เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 จึงได้มี การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2562 ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุภาวะคนไทย ใน 4 มติ ได้แก่ มติ 3.3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก มติ 8.5 วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ มติ 11.3 ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ และมติ 11.4 การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม
 
   ในภาพรวมพบว่าทั้ง 4 มติซึ่งมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อน มีความก้าวหน้าในขับเคลื่อน อาทิ มีการจัดตั้งกลไกในรูปแบบคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการตามข้อมติ มีการตั้งเป้าหมายความสำเร็จและจัดทำแผนดำเนินงานหรือแผนยุทธศาสตร์รองรับการขับเคลื่อนฯ มีพื้นที่นำร่องดำเนินงานเพื่อการศึกษาวิจัย ถอดบทเรียนสู่การกำหนดมาตรการดำเนินงาน เป็นต้น
 
   สำหรับยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง (พ.ศ. 2561 - 2570) ที่ประชุมเร่งรัดให้มีการดำเนินงาน โดยเสนอให้จัดตั้งกลไกดำเนินงานออกเป็น ๒ คณะจำแนกตามบริบท ได้แก่ เขตกรุงเทพมหานครที่มี สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพหลัก และเขตเมืองใหญ่รอบนอก โดยมีกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าภาพหลัก
 
   ที่ประชุมยังได้ร่วมกันคัดเลือกมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเข้าสู่กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอรูปธรรมการขับเคลื่อนที่ผ่านมา หรือหารือมติที่ยังมีการขับเคลื่อนยังไม่ชัดเจน รวมถึงให้ได้ข้อเสนอเพื่อต่อยอดขยายผล จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ มติ 8.5 วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อน มติ 9.4 สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เนื่องจากมองว่า เรื่องไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่อง และกลไกควบคุมพาหะยุงลายยังเป็นเรื่องยากเนื่องจากพฤติกรรมคน ในอนาคตจึงอาจต้องการการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และ มติ 4.2 การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ..ไม่คิดสั้น) ที่มองว่าในระยะหลังได้เกิดปัญหาจากสื่อสังคมออนไลน์ มีลัทธิการเอาอย่าง เทรนด์การเลียนแบบของวัยรุ่นต่างๆ ได้ทำให้ปัญหาการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมว่าการฆ่าตัวตายไม่ได้มีต้นตอมาจากโรคซึมเศร้าอย่างเดียวตามที่สื่อเสนอในช่วงที่ผ่านมา
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143