กำกับโปรฯ ‘มือถือ’ กระตุ้นเด็กเล่นเกมไม่อั้น

   แม้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น “อีสปอร์ต” (E-sports) ราวกับเป็นกีฬาแขนงหนึ่ง หากปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมชนิดนี้มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาวะเด็ก ซึ่งแตกต่างจากกิจกรรมการออกกำลังเฉกเช่นกีฬาชนิดอื่น
 
   โดยเฉพาะเมื่อปรากฏการณ์ของวิดีโอเกมที่กลายมาเป็นกิจกรรมการแข่งขันพร้อมชิงเงินรางวัลอันสูงลิ่ว ได้สร้างความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่เด็กและเยาวชนทั่วโลก
 
   ด้วยเหตุข้างต้น งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 เมื่อปี 2561 เห็นพ้องร่วมกันในข้อห่วงใยต่อเด็กซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอีสปอร์ต จึงเดินหน้าสานพลังสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันและคุ้มครองเด็กจากผลกระทบทางลบดังกล่าว
 
   ความก้าวหน้าล่าสุดของการดำเนินงานถูกนำเสนอในการประชุมแลกเปลี่ยนผลการขับเคลื่อนตาม
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 เรื่อง “ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 โดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก อนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ ประธานการประชุม ได้ชี้แจงเป้าหมายมติสมัชชาฯ ว่า ประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การกำหนดกฎเกณฑ์กติกา สร้างมาตรฐานการแข่งขันอีสปอร์ตให้เกิดขึ้น (2) ศึกษาข้อมูลและผลกระทบอย่างครบถ้วนเพื่อสื่อสารสู่สาธารณะให้เกิดความรู้ความเข้าใจ (3) ให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามกฎหมายเดิมที่มีในการเฝ้าระวังและดูแล และ (4) การหารูปแบบและแนวทางในการจัดทำกฎหมายใหม่เพื่อกำกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอีสปอร์ตในทุกด้าน

 
   นางปิยะวดี พงศ์ไทย ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำ ร่างแผนปฏิบัติการด้านการสร้างความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อเด็กระยะที่ 1 (พ.ศ.2563-2565) ที่ผ่านขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) พิจารณา ซึ่งเป้าหมายสำคัญภายใต้แผนปฏิบัติการฯ นี้คือ ในปี 2563 ประเทศไทยจะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอีสปอร์ตที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก ในปี 2564 ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนเกี่ยวกับอีสปอร์ต และในปี 2565 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีบรรทัดฐานในการดำเนินงานและการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเติบโตของธุรกิจเกมออนไลน์
 
   พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต แจ้งการพบอุบัติการณ์ของเด็กที่มีโรคติดเกมเพิ่มสูงขึ้นถึง 14 เท่า ซึ่งมีระดับอาการตั้งแต่ความคลั่งไคล้ ติดเกม ไปจนถึงระดับรุนแรงที่มีโรคทางจิตเวชร่วมด้วย โดยอาการจิตเวชในเด็กติดเกมที่พบมากที่สุดคือ สมาธิสั้น ตามมาด้วยอาการวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงซึมเศร้า โดยอาการเหล่านี้เจอตั้งแต่เด็กอายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น และยังมีปัญหาที่น่ากังวลจากพฤติกรรมตามมา เช่น การฆ่าตัวตาย ความรุนแรง เพศ ยาเสพติด การพนัน หรือการลักขโมย
 
   จากนั้น ผู้เข้าประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนา ซึ่งมีข้อสรุปที่พ้องต้องกัน คือ เรื่องระบบข้อมูลสถานการณ์ที่มีงานวิชาการรองรับ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ที่จะนำไปใช้ในการรณรงค์ ให้ความรู้ ที่พัฒนาให้มีความสอดคล้องกับผู้รับสารโดยเฉพาะกลุ่มวัย ผู้ปกครอง ครู เจ้าของกิจการเกมส์ออนไลน์และเผยแพร่สู่สาธารณะให้สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงประเด็นความร่วมรับผิดชอบของผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยเฉพาะกิจการโทรคมนาคมที่มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดออนไลน์ เช่น โปรเล่นไม่อั้น การเล่นเกมส์ผ่านมือถือที่ไม่ได้มีระบบการควบคุมวิธีการจ่ายและวงเงินค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องออกมาตรการและมีการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านกลไกของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการกำกับดูแล
 
   และได้ร่วมกันพิจารณารูปแบบการรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนฯ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรให้ผู้แทนคณะทำงานในประเด็นนี้เป็นตัวแทนนำเสนอ เนื่องจากมตินี้ มีความท้าทายต่อกระแสสังคมและทิศทางการพัฒนาประเทศ มีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องการการเจรจาทำความเข้าใจ การสื่อสารจึงต้องเท่าทันสถานการณ์และให้ภาพที่ชัดเจน
 
   “นี่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างครึกโครม เม็ดเงินมหาศาล โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กและเยาวชนซึ่งยังไม่มี
วุฒิภาวะเพียงพอ แต่กลับยังไม่มีกฎหมายดูแล เราจึงต้องรีบหามาตรการให้เร็วที่สุด ซึ่งเราต้องมีเครื่องมือเพียงพอและจุดยืนที่มุ่งมั่น เน้นการทำความเข้าใจกับเด็กเยาวชนและผู้เกี่ยวข้องว่ามาตรการที่จะเกิดขึ้น ไม่ได้ห้ามการเล่นอีสปอร์ต แต่ให้เล่นได้อย่างมีวินัย บนพื้นฐานความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกัน” ดร.ธีรารัตน์ สรุป

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143