แง่คิดจากสมัชชาองค์การอนามัยโลก

   ไปร่วมประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกเป็นครั้งแรกในเที่ยวนี้ (WHA 70) ผมตั้งคำถามไปจากบ้านว่าจะไปหาคำตอบเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้ทั้งข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ตรงที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนางานของ สช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของเรา (NHA)
 
   กรอบประเด็นพิจารณาในสมัชชา ที่ WHA เขาจัดงานเป็นระยะเวลาที่ยาวนานถึง 10 วัน โดยมีกิจกรรมและกรอบประเด็นในการประชุม 3 ด้านใหญ่ๆได้แก่ (1) ด้านวิชาการเชิงนโยบาย หมายถึงสาระสำคัญที่เกี่ยวกับงานสาธารณสุขโดยตรงและรวมไปถึงปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพหรือคุณภาพชีวิตด้วย (2) ด้านการบริหารจัดการ อันหมายถึงเรื่องการพิจารณากรอบงบประมาณ กำลังคน งานบริหารทั่วไปและภารกิจพิเศษของWHO 3.ด้านการเมือง คือเรื่องการเลือกตั้งผู้อำนวยการใหญ่ คณะกรรมการบริหาร ประธานการประชุมสมัชชาฯลฯ ในขณะที่ NHA ของเรานั้นจัดแค่ 3 วันและมีเพียงกิจกรรมอย่างแรกเท่านั้น
 
   ข้อดีคือ ทำให้ NHA สามารถจัดง่ายเกิดง่ายขึ้น เพราะไม่มีความยุ่งยากในการบริหารจัดการและหลีกเลี่ยงปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ส่วนข้อจำกัดที่ตามมาได้แก่ ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในสมัชชามีน้อยและการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเด็นนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง มักเป็นไปแบบตั้งรับ
 
   จำนวนและสัดส่วนของผู้เข้าร่วมสมัชชา WHA มีฐานผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากตัวแทนประเทศสมาชิก 194 ประเทศ แต่ละประเทศจะส่งคนมาร่วมประชุมมากน้อยแค่ไหนก็ได้ ขอเพียงต้องลงทะเบียนสมัครกันมาล่วงหน้าตามที่ประกาศเพื่อ WHO จะสามารถดูแลการประชุมและผู้เข้าร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่ว่าจะมามากแค่ไหนก็มีเพียง 1 เสียงเท่ากัน และจัดที่นั่งสำหรับทั้งทีมแค่ 4 ที่เท่านั้น ค่าใช้จ่ายของตนแต่ละประเทศก็รับผิดชอบกันเอาเอง WHO ไม่เกี่ยว.
 
   ส่วน NHA ของเรามี 280 เสียง มาจากฐาน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. ตัวแทนเครือข่ายเชิงพื้นที่ 77 จังหวัด(MA) ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด 2. ตัวแทนภาคประชาสังคม เอกชนและผู้ทรงคุณวุฒิ 74 เสียง 3. ตัวแทนภาควิชาการและวิชาชีพ 38 เสียง และ 4. ตัวแทนภาครัฐและพรรคการเมือง 91 เสียง
 
   โดยทั้งหมดนี้ สช. เป็นผู้กำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมสมัชชาและเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด อันหมายรวมทั้งค่าเดินทางและค่าที่พักของผู้เข้าร่วมประชุมที่ สช. เป็นผู้เชิญมาด้วย
 
   ข้อดีคือ การจัดการง่ายเพราะรวมศูนย์ที่จุดเดียว
   ข้อจำกัดคือ สช. ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายแต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่ความรู้สึกเป็นเจ้าของสมัชชามีน้อยและการมีส่วนร่วมมีอยู่ในวงจำกัด
 
   เจ้าภาพและเจ้ามือจัดสมัชชา WHA องค์กรผู้จัดคือ WHO แต่เขาไม่ได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานแต่เพียงคนเดียว เพราะงบประมาณของWHO ปีละประมาณ 4,000 ล้านUSD ก็ได้มาจากเงินสมทบรายปีของประเทศสมาชิก มากน้อยตามสัดส่วนGDP รวมกับเงินบริจาคจากผู้บริจาครายใหญ่ นอกจากนั้นประเทศสมาชิกยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการมาประชุมของคณะผู้แทนของตนอีกด้วย จึงมีความรู้สึกเป็นเจ้าของที่สูงมาก
 
   ส่วน NHA นั้น สช. เป็นทั้งเจ้าภาพและเป็นเจ้ามือที่ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) มาเป็นกลไกช่วยการทำงานบางส่วนก็ตาม ข้อดีคือ จัดการแบบรวมศูนย์ดูแลง่าย ข้อจำกัดคือ นอกจากต้องรับภาระงบประมาณเพียงหน่วยเดียวแล้ว สช.ต้องทุ่มเทกำลังคนเกือบทั้งองค์กรเพื่อมาดูแลกิจกรรมใหญ่ประจำปีนี้ และต้องใช้เวลาไปกับงานบริหารจัดการจนไม่มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการเท่าที่ควร.