"ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ : คำประกาศจาก Adelaide"

   กระแสความเคลื่อนไหวระบบสุขภาพในระดับโลก กำลังชูประเด็น"ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ" (Health in All Policies : HiAP) ให้เป็นแนวทางการบูรณาการงานพัฒนาสุขภาพ และยกประเด็นSustainable Development Goals(SDG) ขึ้นเป็นเป้าหมายร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน อันสอดคล้องกับงานของ สช. และภาคีเครือข่ายในบ้านเรา
 
   ล่าสุดในเวทีการประชุมวิชาการนานาชาติ จัดที่เมือง Adelaide มลรัฐออสเตรเลียใต้ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2560 มีผู้เชี่ยวชาญ 150 คนจาก 6 ทวีป 18 ประเทศมาร่วมกันระดมความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ "Health in All Policies : A key approach in progressing the Sustainable Development Goals"
 
   ออสเตรเลียเป็นประเทศในระบอบสมาพันธรัฐ มีระบบการปกครองท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ประกอบด้วย 6 มลรัฐและอีก 2 เขตปกครองพิเศษเทอริทอรี พื้นที่กว้างขวางมากแต่มีประชากรเพียงแค่ 23 ล้านคน เท่านั้น เฉพาะเมือง Adelaide มีประชากร 1.2 ล้านคน นับเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 5
 
   ผมรู้จักเพื่อนชาวออสซี่ครั้งแรกเมื่อสามสิบปีก่อน ในช่วงทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการควบคุมโรคเอดส์ระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์กรนานาชาติหลายแห่ง เช่น Unicef, UNDP ,SCF ,Ausaid.นักกิจกรรมชาวออสซี่ แต่ละคนมักมีทักษะความเชี่ยวชาญในกระบวนการทำงานเป็นอย่างดี ผมเองก็ได้เรียนรู้วิธีคิดวิธีทำงานในแบบพวกเขาไปด้วย
 
   มลรัฐต่างๆ ของเขาก็แข่งขันกันเป็นผู้นำในด้านนั้นด้านนี้ และน่าสังเกตุว่า ถ้าใครเก่งด้านไหนและมีผลงานโดดเด่นมาก มลรัฐอื่นๆมักไม่ชอบเดินตาม แต่จะฉีกไปทำด้านอื่นแทน คงไม่อยากเสียเหลี่ยมกันมั้งแต่เขาก็แข่งกันทำเรื่องที่ดีๆและไม่ทับถมกันนะครับ.
 
   มลรัฐวิคตอเรีย ที่มี Melbourne เป็นเมืองหลวง เก่งในด้านรณรงค์สร้างเสริมสุขภาพ ประเทศไทยยังเคยนำรูปแบบของกองทุน VicHealth มาปรับประยุกต์และจัดตั้งเป็นกองทุน สสส. ส่วนมลรัฐออสเตรเลียใต้ที่มี Adelaide เป็นเมืองหลวง ก็เก่งในด้านบูรณาการงานสุขภาพกับการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต
 
   อย่างในคราวนี้ภายใต้การนำของ Don Nutbeam, IlonaKickbusch, Fran Baum, Oreille Solar และ Collin Sindall ซึ่งแต่ละคนมีฐานที่มั่นคงในมหาวิทยาลัย Flinders University มาเป็นหัวเรียวหัวแรงจัดงานนี้โดยทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลของมลรัฐและภาคประชาสังคม
 
   พวกเขาจับจุดเริ่มจากคำประกาศ Ottawa Charter on Health Promotion 1986 เขาจัดเวทีวิชาการ HiAP Forum อย่างต่อเนื่องในปี 2007,2008และ2010 เข้าร่วม Rio Political Declaration on SDH 2011, Helsinki Statement on HiAP 2013 และShanghai Declaration on Promoting Health for Sustainable Development 2016 ส่วนเป้าหมายคราวนี้คือชูธงประกาศเป็น Adelaide Statement on HiAP 2017.
 
   มีบทเรียนรู้จากประสบการณ์กว่าสิบประเทศที่นำเสนอในเวที อาทิ
 
   1. การก้าวข้ามประเด็นสุขภาพมิติแคบไปสู่สุขภาพสี่มิติ คุณภาพชีวิตและการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ควรชู SDGsเป็นเป้าหมายและใช้ HiAP เป็นแนวทาง.
   2. การขับเคลื่อน HiAP/SDGs ต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่หรือชุมชนท้องถิ่น เพราะที่นั่นสามารถบูรณาการ การทำงานของภาคีพันธมิตรในสถานการณ์จริงได้ครบทุกขั้นตอน ทั้งขาขึ้น ขาเคลื่อนและการ ประเมินผล .
   3. ควรต้องสร้างรูปธรรมความสำเร็จจากเรื่องเล็กๆที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น สวนสาธารณะใน เมือง การจัดการขยะชุมชน โรงเรียนในฝัน ชุมชนสุขภาวะ เมืองน่าอยู่ ฯลฯ มากกว่าการมุ่งทำนโยบาย ใหญ่แบบลอยๆ.
   4. ประเทศไทยมีเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ (4PW) อย่างเพียบพร้อม และอยู่ในระดับแนวหน้า ทั้งธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ขณะที่หลายประเทศกำลังแสวงหา.
   5. กระบวนการวิจัยประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาในพื้นที่ ในมุมมองด้านสุขภาพ(Health Lens)ทั้งด้านบวกและด้านลบของทีมออสเตรเลียใต้เป็นรูปแบบที่น่าสนใจ ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการ ขับเคลื่อน.
   6. เพื่อสร้างความเข้มแข็งและภาวะการนำในระดับท้องถิ่นและเวทีโลก การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของ สช.และภาคีเครือข่าย มีความสำคัญเร่งด่วน.