สร้างการมีส่วนร่วมทุกระดับ จากพื้นที่สู่ยุทธศาสตร์ชาติ จุดหมายที่ต้องไปให้ถึง

   ประกาศกันไปแล้ว สำหรับระเบียบวาระที่จะเข้าสู่การพิจารณา ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ รวมทั้งสิ้น ๔ ประเด็น
 
   โดยแต่ละประเด็นล้วนแต่มีความสำคัญ ต่อทุกภาคส่วนในสังคม ได้แก่ ๑. วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๒. สุขภาวะชาวนา ๓. การพัฒนาระบบสุขภาพแขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม : ระบบบริการสุขภาพ และ ๔. นโยบายการลดบริโภคเกลือ
 
   โดยเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ระหว่าง คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น และ คณะอนุกรรมการวิชาการ ครั้งที่ ๒ โดยมี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการ เป็นประธาน โดยที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้รายงานความก้าวหน้า ของการดำเนินงานในแต่ละประเด็น และข้อคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
 
   “การพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ต้องทำให้มีความชัดเจน ทั้งในภาพใหญ่และเนื้อหา สร้างการมีส่วนร่วมได้จริงในระดับพื้นที่ ต้องดูรายละเอียดในแต่ละประเด็นว่า จะสามารถขับเคลื่อนได้ในลักษณะใด ไม่ว่าจะผลักจากพื้นที่ ส่วนกลาง หรือผลักดันเป็นนโยบาย” นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการขับเคลื่อน
 
   สำหรับการเสนอนโยบาย แผนงาน หรือยุทธศาสตร์ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น ต้องมีความชัดเจน ๓ ประการ ประกอบด้วย ๑). Roadmap ในการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาตั้งแต่ ๓ เดือน , ๖ เดือน , ๙ เดือน ไปจนถึง ๑ ปี ๒.) เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ และตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถติดตามประเมินผลได้ ๓.) แผนงบประมาณ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงาน
 
   เริ่มจากประเด็นที่ใกล้ตัวคนเมืองอย่าง “การพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม : ระบบบริการสุขภาพ” ที่มี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค เป็นประธานคณะทำงานฯ ถอเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและซับซ้อนในการทำงานค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นที่เขตเมือง กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และมีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดการระบบสุขภาพในเขตเมืองต้องทำใน เชิงระบบ วางโครงสร้างในการจัดการปัจจัยที่บ่งชี้สุขภาพ และความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในสังคมเมือง
 
   ทางคณะอนุฯวิชาการ เห็นพ้องว่าจำเป็นต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกระดับ และการกำหนดนิยามระหว่างคำว่า ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง และระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานระยะต่อไป
 
   เรื่องใกล้ตัวอีกประเด็น และเป็นหัวข้อที่อยู่ในกระแสสังคมมาทุกยุคสมัย อย่างประเด็น “สุขภาวะชาวนา” ที่มี ผศ.นิกร พรหมกิ่งแก้ว เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งประเด็นนี้ได้ผลักดันมาจากเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เมื่อปลายปีก่อน ต่อเนื่องมาจนเสนอเข้าเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทางคณะทำงานฯ ต้องการเห็นผลการขับเคลื่อนท่ีเกิดเป็นรูปธรรม
 
   ที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นนี้สำคัญและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จำเป็นที่จะต้องโฟกัสให้ชัด หรือเลือกประเด็นบางประเด็นขึ้นมาดำเนินการก่อน อาศัยช่องทางของการทำงานในระดับพื้นที่ ของภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทั้ง ๗๗ จังหวัด สร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้น และขยายกลไกการทำงานต่อไปได้
 
   สำหรับประเด็น “วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ที่อาจถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประธานคณะทำงานฯ กล่าวว่า สถานการณ์ ภัยคุกคามจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ทั้งที่เกิดจากการใช้ยาของผู้บริโภค และการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งทุกระดับ
 
   รวมทั้งการกำหนดบทบาทให้เกิดความชัดเจน ว่าแต่ละภาคส่วน แต่ละองค์กร จะมีบทบาทในการร่วมบูรณาการกันอย่างไร
 
   ประสิทธิ์ชัย หนูนวล คณะอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า โจทย์ใหญ่ของประเด็นนี้ คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญ และตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานภาครัฐ หรือภาควิชาการอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้น
 
   ประเด็นสุดท้ายคือ “นโยบายการลดบริโภคเกลือ” จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่า การบริโภคเกลือที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ (๔๐% ของน้ำหนัก) ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นสาเหตุของโรค อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง เป็นประเด็นที่ประชาชนมองข้าม และไม่ตระหนักถึงปัญหาที่ตามมาจากการบริโภคเท่าที่ควร
 
   นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การลดการบริโภคเกลือเป็นเรื่องสำคัญ จากเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ว่า การลดบริโภคเกลือ ๓๐% จะลดการอัตราการตายจากโรคไต โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน สามารถลดลงได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลดลงตามไปด้วย
 
   ที่ประชุมสรุปว่า หลังจากนี้ ทางคณะทำงานแต่ละประเด็น จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นย่อยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือ Stakeholder ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพัฒนาเอกสาร(ร่าง)มติ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143