ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รองรับสังคมผู้สูงอายุ

เมื่อปี ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา คสช. ได้พิจารณาให้ หยิบยกประเด็น “สุขภาพผู้สูงอายุ” ขึ้นมาเป็น ๑ ใน ๔ เรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยผลักดันให้ มีการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องนี้ ด้วยเล็งเห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูง อายุแล้ว และจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) จึงจำเป็น ต้องมีการเตรียมตัวและวางแผนรองรับให้ดี 

จากการวิจัยของ วิพรรณ ประจวบเหมาะ และคณะ (สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. ๒๕๕๕. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ) ระบุว่า ประชากร สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๑๓.๒ ใน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นร้อยละ ๓๒.๑ ใน พ.ศ. ๒๕๘๓  ใครที่มีอายุอยู่ถึงปีนั้น ก็จะได้เห็นสังคมไทย ที่มีผู้สูงอายุ ๑ คนใน ๓ คนล่ะครับ เมื่อผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สังคมก็มีภาระการ ให้บริการและดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ในสหรัฐอเมริกา เคยมีการวิจัยพบว่า ค่า ใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลใน ๖ เดือนสุดท้าย ของชีวิต สูงมากกว่าที่ใช้มาทั้งชีวิต! ดังนั้น ค่าใช้จ่ายในการให้บริการสุขภาพ ผู้สูงอายุจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแน่นอน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สูงอายุก็เป็นทั้งคุณค่า และเป็นทั้งปัญญาของสังคมควบคู่กันไปด้วย ไม่ไช่เป็น ภาระของสังคมด้านเดียว การเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็น หน้าที่ของสังคมทั้งสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กร ทุกภาคส่วน ชุมชน และครอบครัว 

เวลาผมไปลงพื้นที่ต่างๆ พบว่ามีการจัด กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพให้กับผู้สูงอายุกระจายไปทั่ว แต่กิจกรรมเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนปลีกย่อย ยังจำเป็น ต้องมีการพัฒนาเชิงระบบให้เกิดผลเป็นรูปธรรม อีกมาก ไม่ว่าเรื่องระบบการออม ระบบสวัสดิการรักษา พยาบาลทั้งที่โรงพยาบาล ชุมชน และครอบครัว ระบบ การดูแลส่งเสริมคุณภาพชีวิต ฯลฯ รวมไปถึงระบบที่สร้างช่องทางให้ผู้สูงอายุ ได้ใช้ปัญญา ศักยภาพ และความรู้ความสามารถ สร้าง คุณประโยชน์ให้สังคมไปพร้อมๆ กันด้วย 

จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้อง หันมาคิด คุย และพัฒนานโยบายสุขภาวะผู้สูงอายุ และร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลเป็น รูปธรรมอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา แค่ร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ ที่ ควรจะผ่านออกมาเป็นกฎหมายได้นานแล้ว ก็ยังถูกดึง ถูกดองกันเป็นปีๆ   

หวังว่าสังคมไทยในยุคกระแสเรียกร้อง การปฏิรูป จะมีเวลาและโอกาสให้นโยบายสุขภาวะ ผู้สูงอายุได้ขับเคลื่อนข้างหน้า ทันรองรับสถานการณ์ที่ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว   คสช. สช. และกลไกต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ จะทำหน้าที่สนับสนุน ร่วมพัฒนา และ ขับเคลื่อนนโยบายเรื่องนี้กันอย่างเต็มกำลังกันต่อไป