‘พระนิสิตเมียนมา’ จิตอาสา หนุนช่วยแรงงงานข้ามชาติ ฟื้นฟูจิตใจ สู้โควิด-19

‘พระนิสิตเมียนมา

   “เมียนมาดูแลเมียนมา” คือ หัวใจสำคัญของปฏิบัติการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ “แรงงานข้ามชาติ” ที่องค์กรศาสนา หน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และสื่อสาร ได้สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนดำเนินการภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่” เพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการดูแลคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยง
 
   สำหรับแรงงานข้ามชาติ ในแง่หนึ่งคือผู้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ ในอีกแง่หนึ่งถือเป็นกำลังสำคัญต่อการ “ควบคุมโรค” โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่โรคกำลังระบาดอยู่นั้น ภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคมและสุขภาพต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า หลักการทำงานคือต้องดึงให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันควบคุมโรคให้ได้
 
   นำมาสู่การ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาพระนิสิตจิตอาสาเพื่อสร้างเสริมและฟื้นฟูสุขภาวะแก่แรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (ThaiPBS) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และกรุงเทพมหานคร
 
   สาเหตุที่เลือก “พระนิสิตเมียนมา” มาเป็นตัวกลางสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากชาวเมียนมามีความศรัทธาอย่างแรงกล้าในพุทธศาสนา และพร้อมเปิดใจรับฟังพระในฐานะศูนย์รวมจิตใจ
 
   พระเทพวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มจร. ฉายภาพในการจัดอบรมว่า ความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนอย่างไม่หวั่นไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่อาจเรียกได้เป็น Buddhist Nationality จะเป็นจุดเปลี่ยนของการควบคุมและป้องกันโรค
 
   “จากนี้ไปสังคมอาจจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหรือการส่งออกเองก็อาจยังไม่สามารถกลับมาพึ่งพาได้ในระยะสั้น สิ่งสำคัญขณะนี้จึงเป็นการทำสังคมให้น่าอยู่ ดูแลกันด้วยการศึกษา การอบรม กล่อมเกลาสติปัญญาเพื่อบรรเทาทุกข์ในระยะนี้ เป็นการวางรากฐานก่อนที่จะตั้งมั่นพัฒนาในด้านอื่นๆ เพื่อให้เกิดระบบสังคมที่ยั่งยืนต่อไป” อธิการบดี มจร. ระบุ
 
   ในส่วนของพระนิสิตชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ข้อมูลจาก พระเทพเวที รศ.,ดร. รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 6 และรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร. ทำให้ทราบว่า มีมากถึง 1,300 รูป ในจำนวนนี้เป็นพระนิสิตชาวเมียนมา 560 รูป ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ที่ มจร. และที่ผ่านมาพระนิสิตเหล่านั้นได้มีการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมาอยู่แล้ว
 
   พระเทพเวที เชื่อว่า สิ่งสำคัญที่พระนิสิตสามารถช่วยได้คือ การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจของแรงงานข้ามชาติต่อนโยบายภาครัฐ ให้รับรู้ว่าไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะเพียงคนไทย แต่เป็นการดูแลทุกคนที่อยู่ภายในประเทศให้สามารถเข้าถึงการดูแลด้านสุขภาพถ้วนหน้า
 
   “ในฐานะพระ เราได้รับความศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน หลายครั้งที่ชาวพุทธเดินทางมาหาเรา ถวายภัตตาหาร สังฆทาน โดยที่เราไม่มีสิ่งใดตอบแทนให้ ดังนั้น ในขณะที่เขากำลังเผชิญกับความยากลำบาก พระสงฆ์ก็จำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพใจ” รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มจร. ระบุ
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า บทบาทของพระนิสิตชาวเมียนมาในที่นี้ จะเป็นทั้งที่ปรึกษา (Counsellor) และผู้นำทางความคิด (Influencer) ให้กับแรงงานชาวเมียนมา อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่
 
   “สช. และภาคีเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะช่วยทำให้พระนิสิตเมียนมามีความรู้ ความเข้าใจมาตรการด้านสุขภาพ และนโยบายของประเทศไทย จนสามารถไปสื่อสารกับแรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง พร้อมกับหวังว่าพระนิสิตจะทราบช่องทางการสื่อสารและสามารถผลิตสื่อเผยแพร่ไปยังแรงงานเมียนมาได้ด้วย” นพ.ประทีปกล่าว
 
   ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมากกับชาวเมียนมาในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่นเดียวกับปัญหาข้อจำกัดเรื่องการสื่อสารระหว่างบุคลากรชาวไทยและแรงงานชาวเมียนมา โดยเฉพาะการทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องตามมาตรการสาธารณสุข
 
   ภายใต้การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้มีการให้ความรู้แก่พระนิสิตชาวเมียนมาในมุมมองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดย นพ.สุวิช ธรรมปาโล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เน้นย้ำหลักการสำคัญคือ D-M-H-T-T ซึ่งประกอบด้วย Distancing (รักษาระยะห่าง) Mask Wearing (ใส่หน้ากากอนามัย) Hand Washing (ล้างมือบ่อย) Testing (ตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิด) และ Thai Chana (ใช้แอปฯ ไทยชนะ)
 
   “คนที่ติดโรคนี้ประมาณ 40% จะแข็งแรง ไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ดังนั้นหากใครที่มีอาการเช่นนี้เมื่อไรให้แยกตัวออกจากผู้อื่นทันที พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อตรวจสอบ และประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ในการดูแล” นพ.สุวิช ให้หลักการ
 
   ด้านสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้แทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ให้ข้อมูลว่า ปัญหาสำคัญขณะนี้คือการขาดรายได้ ขาดหลักประกันสุขภาพ ขณะที่แรงงานถูกกฎหมายก็กำลังเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบ จากปัญหาการต่อวีซ่า ต่ออายุหนังสือเดินทาง และยังไม่นับรวมผลกระทบอื่นๆ อย่างความเครียด หรือปัญหาทางสุขภาพจิตที่ตามมา
 
   ทั้งนี้ หนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ควรถ่ายทอดสู่แรงงานชาวเมียนมา คือระยะเวลาขยายการต่ออายุของกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบัตรสีชมพู กลุ่ม MoU ตลอดจนกลุ่มที่สิ้นสุดการอยู่ หรือหลบหนีเข้าเมือง เพื่อให้สามารถจัดการได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันยังสามารถใช้กลไกเครือข่ายชุมชนเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) อาสาประจำหอพัก เข้ามาช่วยหนุนเสริมซึ่งกันและกัน
 
   นายอำนาจ สังข์ศรีแก้ว นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการห้ามออกนอกประเทศ ประเทศไทยจึงใช้มาตรการพิเศษผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบริหารให้แรงงานข้ามชาติที่ขณะนี้มีอยู่กว่า 2.5 ล้านคน ให้สามารถอยู่ต่อและทำงานได้
 
   “หลังการแพร่ระบาดรุนแรงระลอกใหม่ที่ตลาดกุ้ง ทำให้รัฐบาลเห็นว่ามีแรงงานข้ามชาติตกหล่นอยู่พอสมควร ราว 6 แสนราย โดยเป็นชาวเมียนมาประมาณ 3.8 แสนราย จึงออกมติเพื่อให้คนกลุ่มนี้ออกมาจดทะเบียน และให้ความสำคัญในการจัดเก็บคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในฐานข้อมูล” นายอำนาจ ระบุ
 
   สำหรับการดำเนินโครงการครั้งนี้ มุ่งเน้นผลลัพธ์ 2 ประการ ได้แก่ 1. พระนิสิตสามารถผลิตคลิปวิดีโอสั้นเพื่อใช้สื่อสารได้ด้วยตนเอง 2. มีช่องทางการเผยแพร่ขั้นพื้นฐานทางสื่อสังคมออนไลน์ ให้พระสงฆ์สามารถเป็นที่พึ่งส่งต่อกำลังใจแก่แรงงานชาวเมียนมา และความรู้ที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพ มาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันโรค ที่สอดคล้องกับมาตรการรัฐและนโยบายที่ประเทศไทยวางไว้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):