บอร์ดใหญ่ คสช. เปิดพื้นที่ ‘กลุ่มเปราะบาง-คนด้อยโอกาส’ สร้างนโยบายสาธารณะ รับกรอบงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14

   “บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ” รับทราบกรอบแนวทางจัดสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14 ที่เน้นหนักเรื่องขยายการมีส่วนร่วม ดึง “กลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาส เครือข่ายผู้ป่วย เด็ก-เยาวชนคนรุ่นใหม่” ร่วมเวทีสร้างนโยบายสาธารณะ ต่อยอดความสำเร็จ จัดงาน 2 วันแบบ “ไฮบริด” 15-16 ธ.ค.นี้
 
   ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ซึ่งมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้รับทราบกรอบแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ที่ให้ความสำคัญกับการขยายการมีส่วนร่วมไปยังประชาชนกลุ่มเปราะบาง คนด้อยโอกาส เครือข่ายผู้ป่วย เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบแต่งตั้ง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีต รมช.สาธารณสุข ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ แทน นพ.มงคล ณ สงขลา ที่เสียชีวิต และตั้งคณะกรรมการประสานและพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากสำหรับประเทศไทย มี นพ.สุวิทย์ วิบูลผลประเสริฐ และ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เป็นประธานร่วม
 
   สำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ภายใต้ประเด็นหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งเป็นธีมเดียวกับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำถึงความจำเป็นในการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่จะใช้รับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยจัดขึ้นวันที่ 15-16 ธันวาคม ณ หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในรูปแบบ “ไฮบริด” ผ่านทางออนไซต์ และออนไลน์ ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้จะเปิดให้ประชาชนที่สนใจทั่วประเทศนอกเหนือจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพที่เป็นผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานล่วงหน้าได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญเน้นขยายการมีส่วนร่วมให้มากขึ้นกว่าเดิม
 
   นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การขยายการมีส่วนร่วมไปยังสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในสังคม จะช่วยทำให้นโยบายสาธารณะที่เกิดขึ้นยังประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย เด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เขาเหล่านั้นเข้ามาเป็นผู้สร้าง ผู้กำหนด และผู้รับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะ จะยิ่งทำให้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีชีวิต และกลายเป็น “เครื่องมือของประเทศ” ในการแก้ปัญหา คลี่คลายความขัดแย้ง และคลี่คลายวิกฤตการณ์ได้อย่างแท้จริง
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาสนับสนุนการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เมื่อปีที่ผ่านมาภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งสามารถปลดล็อคข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จนทำให้มีผู้เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์จากทั่วทุกพื้นที่ของประเทศกว่าสามพันคน และมีประชาชนติดตามเข้าร่วมทางออนแอร์อย่างล้นหลาม นำมาสู่การต่อยอดการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ที่ตั้งเป้าหมายจะมีประชาชนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนคนเข้าร่วมงาน
 
   สำหรับผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพฯ ในช่วงปลายปีนี้ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ กรรมการ และคณะทำงานจัดงานที่เดินทางมาร่วมงาน ณ ห้องประชุมใหญ่ TOT จำนวน 500 คน
2. สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จากผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรของแต่ละจังหวัดที่เข้าร่วมพิจารณาระเบียบวาระผ่านทางออนไลน์ทั่วประเทศ จำนวน 2,500 คน

3. สมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จากประชาชนที่สนใจและได้ลงทะเบียนล่วงหน้า เข้าร่วมผ่านระบบ Facebook Live อีกราว 5,000-10,000 คน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ตั้งเป้าหมายไว้ 50,000 - 100,000 คน

 
   นอกจากนี้ ในช่วงเดือนประมาณเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2564 ยังจะมีการจัด “มหกรรมสมัชชาสุขภาพจังหวัด” และ “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side events) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และปลุกกระแสสังคมให้ตื่นตัวกับการรับมือวิกฤตสุขภาพโดยมีเวทีพัฒนานโยบายสาธารณะและกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือ ส่วนประเด็นของการจัดงานจะเป็นไปตามสภาพปัญหาและบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีภาพใหญ่ที่เชื่อมโยงกับธีมหลักของงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 14
 
   “สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในปีนี้ คือการขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมา โดยจะมีสมาชิกทั้งประชาชนผู้ที่สนใจ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ เข้ามาร่วม และภายในงาน จากเดิมจะเน้นเรื่องการหาฉันทมติ ก็จะปรับไปเป็นการเฉลิมฉลองและสร้างพันธะสัญญาในการขับเคลื่อนมติร่วมกัน” นพ.ประทีป กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

นายสาธิต ปิตุเตชะ
กรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
กรรมการสุขภาพแห่งชาติ