บทเรียนโควิด-19 นำมาจัดการวิกฤต เน้นพลังพลเมืองตื่นรู้

บทเรียนโควิด-19 นำมาจัดการวิกฤต

   ท่ามกลางโควิด-19 ที่กลับมาระลอกใหม่ หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 คือเวทีเสวนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนรูปธรรมการสานพลังเพื่อฟันฝ่าวิกฤตสุขภาพในครั้งนี้
 
   ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกว่า สถานการณ์การติดเชื้อทั่วโลกยังอยู่ในขาขึ้นและไม่คงที่ โดยสถิติล่าสุดขณะนี้คือทุก 3 วัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 1 ล้านราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตทะลุ 1 หมื่นรายต่อวัน
 
   สำหรับบทเรียนของประเทศไทย นับจากเคสแรกที่เกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 2563 ก่อนจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือการพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายบนฐานข้อมูล เพื่อประเมินและฉายภาพวิเคราะห์ จนนำไปสู่การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมโรค ใช้มาตรการค้อนทุบในช่วงต้น และค่อยๆ เริ่มผ่อนผันลงเป็น 6 เฟส
 
   ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ความสำคัญของการทำงานในครั้งนี้ คือการที่ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายรัฐบาล มีการประสานการทำงานร่วมกันโดยตลอด ซึ่งอาจคล้ายกับเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ที่เป็นการเชื่อมร้อยการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ร่วมกับปัจจัยที่สำคัญคือความร่วมมือจากภาคพลเมือง ที่ค่อยๆ แปรเปลี่ยนความตื่นตระหนกเป็นตระหนัก ร่วมกันเรียนรู้และช่วยกันป้องกัน จึงเป็นส่วนที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดี
 
   สำหรับการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์” วิเคราะห์ว่า มีด้วยกัน 5 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. ปัจจัยทางมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาติตะวันตก 2. ปัจจัยการบริหารจัดการ ที่มีการตัดสินใจและประสานงานร่วมกัน 3. ปัจจัยทางเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเสมือนการใช้เครื่องติดตามตัวได้ 4. ปัจจัยระดับโลก ที่จะต้องคอยเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดระลอกสองเข้ามา 5. ปัจจัยของไวรัส ที่อาจมีการกลายพันธุ์มากขึ้นและเราจะต้องติดตาม
 
   “อย่าคิดว่าจะต้องรอพึ่งพาวัคซีนอย่างเดียว เพราะเรามีวัคซีนที่ได้ผลดีอยู่แล้วคือการใส่หน้ากาก-การล้างมือ-การรักษาระยะห่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่มั่นใจได้ในเวลานี้ ควบคู่กับความร่วมมือกันของคนทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันดำเนินมาตรการต่างๆ โดยไม่ได้รอคอยแต่กลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียว เป็นการใช้กลไกของสังคมซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนมากกว่า และเป็นสิ่งที่ศิริราชคุ้นเคยดี จากการที่ได้ใช้พลังทางสังคม เงินบริจาคต่างๆ ในการดำเนินงาน” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ
 
   ย้อนรอยสถานการณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม มีตัวอย่างการดำเนินงานของภาคสังคมที่น่าสนใจ ภาพความสำเร็จได้รับการบอกเล่าผ่าน น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ พัทยา ซึ่งได้สะท้อนปัญหาของพนักงานบริการจำนวนมาก ที่ประสบภาวะยากลำบากจากการถูกปิดตัวของสถานบริการ และธุรกิจการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัน ส่งผลให้คนจำนวนหลายแสนคนต้องตกงานอย่างสิ้นเชิง ขณะที่บางส่วนถึงขั้นกลายเป็นคนไร้บ้าน
 
   ทั้งนี้ สิ่งที่ทางเครือข่ายทำคือ การลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ไม่ได้รอเพียงภาครัฐเข้ามาจัดการ โดยอันดับแรกคือ การลุกขึ้นมาทำข้อมูลทางวิชาการ เพื่อสำรวจความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นให้เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ โดยลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ นำมาสู่การแก้ไขเป็นลำดับ ตั้งแต่การตั้งกองทุนบริจาคเพื่อแจกจ่ายอาหาร จัดหาอุปกรณ์ยังชีพ อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ไปจนถึงการทำกิจกรรมสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับโรค และแนวทางปฏิบัติตนที่ถูกต้อง
 
   “ในช่วงการระบาดของโควิด-19 โรคติดต่ออื่นๆ อย่าง HIV หรือซิฟิลิส ก็ไม่ได้หยุดนิ่ง เราจึงต้องดำเนินงานควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้จังหวะเดียวกันเพื่อตรวจคัดกรอง ส่งต่อผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาทันที ในเวลาเดียวกันก็ทำให้มั่นใจว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อจะไม่ขาดยาต้านไวรัสในช่วงของการล็อคดาวน์ ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงวันนี้โดยไม่ได้รอหน่วยงานใด” น.ส.สุรางค์ ระบุ
 
   ด้าน นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกชุมชน กลุ่มใจบ้านสตูดิโอ และสวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เล่าว่า จากการสำรวจความยากลำบากของประชาชนในช่วงโควิด-19 พบว่าภาระค่าใช้จ่ายที่สำคัญมาจากค่าอาหาร ขณะเดียวกันในช่วงของการแพร่ระบาดเกิดภาวะของการกักตุนอาหาร สินค้าการเกษตรขาดช่วง ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และมองหาพื้นที่สาธารณะที่จะสามารถรองรับการผลิตและการกระจายอาหารในเมืองได้
 
   นายศุภวุฒิ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการนำพื้นที่กองขยะกลางเมืองขนาดราว 2.5 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว แต่เมื่อมีการเสนอเข้าไปยังส่วนราชการ ทำให้พบว่ามีการติดขัดข้อระเบียบกฎหมายหลายส่วน จึงเกิดการระดมทุนและทรัพยากรกันเองของภาคเอกชน เข้ามาแปรเปลี่ยนพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่ผลิตอาหารและส่งเสริมการเรียนรู้
 
   “ด้วยมือของคนธรรมดาที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา ในเวลาเพียง 6 เดือน พื้นที่แห่งนี้ก็ปักหมุดเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมือง มีผลผลิตที่ชุมชนเข้ามาเก็บไปใช้บริโภค แบ่งปัน และเป็นพื้นที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับธรรมชาติได้ ดังนั้น วิกฤตนี้ได้ทำให้เราลุกขึ้นมาเชื่อมโยงกับคนอื่น ไม่ได้อยู่แค่เพียงปัจเจก และยังจุดประกายให้เกิดการมองความเป็นไปได้ที่จะปลดล็อคพื้นที่อื่นๆ ให้รองรับประโยชน์สาธารณะได้ต่อไป” นายศุภวุฒิ ระบุ
 
   สำหรับภาพใหญ่ของสถานการณ์และการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ทำความเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่บนโลกใบเดิม แต่เป็นโลกที่มีความย้อนแย้ง ซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และเรียกว่าเป็น One World, One Destiny หรือหนึ่งโลก หนึ่งชะตากรรมร่วม
 
   “พูดง่ายๆ ว่าจากนี้ไป ถ้ามีสุขเราก็สุขด้วยกัน แต่ถ้าทุกข์เราก็ทุกข์ด้วยกัน เพราะภัยคุกคามจากนี้จะยกระดับเป็น Global ซึ่งโควิด-19 คือตัวอย่างของการเป็น Global Commons ร่วมกัน และเราก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของโควิด-19 แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วย” ดร.สุวิทย์ ระบุ
 
   ในส่วนของประเทศไทย ดร.สุวิทย์ บอกว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะดูเป็นผลงานที่เราสามารถจัดการได้ดี แต่ยังคงมีวิกฤตเชิงซ้อนอยู่ร่วมอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตทางการเมืองที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราพิจารณาเลือกแก้ไขปัญหาเฉพาะโควิด-19 อย่างเดียวไม่ได้ ฉะนั้น พลังพลเมืองตื่นรู้ยังจะต้องก้าวข้ามไปสู่การจัดการเพื่ออยู่กับโลกวิถีใหม่ หรือ New Normal ต่อไปด้วย
 
   ทั้งนี้ หนทางอันจะนำไปสู่ชีวิตวิถีใหม่ที่ยั่งยืน คือการสร้างสังคมที่ปกติสุข บนพื้นฐาน 3H คือการมี Hope ความหวัง Happiness ความสุข และ Harmony ความปรองดอง ซึ่งการสร้างสิ่งเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับจุลภาค ไปจนถึงระดับโครงสร้างมหภาค
 
   เริ่มต้นจาก 1. New Mindset การที่ทุกคนปรับความคิดและมุมมองใหม่ โดยเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา
 
   2. New Living Culture การมีวิถีวัฒนธรรมใหม่ โดยเฉพาะการรู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน ซึ่งมีตู้ปันสุขเป็นตัวอย่างความงดงามจากช่วงโควิด-19 ที่ต้องรักษาไว้ ควบคู่กับสร้างวัฒนธรรมความสะอาด ความปลอดภัย เป็นต้น
 
   3. New Policy Agenda การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อให้สอดรับกับพลวัตร โดยเน้นหนักใน 2 ด้าน คือ หลักประกันความมั่นคงขั้นพื้นฐาน เช่น สุขภาพ อาหาร พลังงาน งานและรายได้ กับหลักประกันความฉลาดรู้ขั้นพื้นฐาน เช่น Health Literacy, Financial Literacy, Social Literacy และ Digital Literacy
 
   4. New Social Ecosystem การสร้างระบบนิเวศทางสังคมใหม่ เพื่อตอบโจทย์สุขภาวะและความเป็นปกติสุขของคนในสังคม ผ่านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม (Clean & Clear) สังคมแห่งโอกาส (Free & Fair) และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน (Care & Share) เปลี่ยนการมองทุกอย่างแบบ Me Society ให้เป็น We Society และฐานรากสำคัญที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน คือการเปลี่ยนพลเมืองเฉยชา (Passive Citizen) ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Engage Citizen) นั่นเอง
 
   สำหรับวงเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2563 ภายใต้ธีมหลัก “พลังพลเมืองตื่นรู้ .. .สู้วิกฤตสุขภาพ” ที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นวันที่ 16-17 ธันวาคม 2563 คือการบอกเล่าเรื่องราวผ่านเวทีเสวนา “ก้าวผ่านวิกฤตโควิด ... สู่วิถีชีวิต และการจัดการใหม่ร่วมกัน” ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนรูปธรรมการสานพลังเพื่อฟันฝ่าวิกฤตสุขภาพในครั้งนี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):