สช.- สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

   นพ.ประทีป นำทีมผู้บริหาร สช. เคาะประตูกระทรวงดิจิทัลฯ พบเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สร้างความร่วมมือ - ตั้งคณะทำงานในการวางแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลร่วมกัน เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลบุคคลตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ - พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นเอกภาพ และไม่เป็นอุปสรรคในภาคปฏิบัติ ที่ประชุมเคาะมติตั้งคณะทำงานเฉพาะ ให้ สช.เชื่อมหน่วยงานหลักร่วมวางเกณฑ์ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นวงกว้าง
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำทีมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าหารือกับ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เพื่อหาแนวทางในการจัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.๒๕๖๒ มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว (Sensitive Data) ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแพ่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ด้วยเช่นกัน
 
   นพ.ประทีป กล่าวภายหลังการประชุมว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ
 
   นพ.ประทีปขยายความว่า ที่ผ่านมา มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลไว้อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษ แต่ไม่มีกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้เกิดความแตกต่างในการตีความกฎหมายและสร้างข้อจำกัดในภาคปฏิบัติที่ต้องถือเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นหลัก ทาง สช. ได้พยายามแก้ปัญหาข้อร้องเรียนในกรณีนี้โดยหารือแนวปฏิบัติกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุขไว้แล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกหรือประกาศใดๆ ขณะที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกและแนวปฏิบัติในด้านต่างๆ ได้โดยตรง จึงพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ พร้อมเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและวางแนวปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ ทำให้สามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขณะเดียวกันก็ไม่สร้างอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข
 
   ด้านนายภุชพงค์กล่าวว่า รู้สึกยินดียิ่งที่มีพันธมิตรในการทำงานเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนที่ สคส.จะต้องจัดทำแนวปฏิบัตินอกเหนือไปจากการออกกฎหมายลูก เพื่อวางมาตรการในกรอบใหญ่ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนดไว้ หวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้การจัดทำแนวปฏิบัติดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้งกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติต่างๆ จะต้องยกร่าง รับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ ก่อนที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๔
 
   ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒ มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้ว ๕๐ มาตราในสองหมวดหลัก จากนั้นมีการออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นให้หน่วยงานและกิจการ ๒๒ ประเภทยังไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยนายภุชพงค์กล่าวว่า เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเวลาในการปรับตัวและทำระบบจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ต้องการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการรายย่อยมากเกินไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
 
   ในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันด้วยว่า มาตรา ๗ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ นั้นเขียนไว้ค่อนข้างเข้มงวดว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยไม่ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ในขณะที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเปิดกว้างมากกว่า โดยในมาตรา ๒๖ ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ ๕ ประการ เช่น เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคลนั้น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยขจัดปัญหาการตีความมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่แตกต่างกันได้ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลการแพทย์เพื่อการรักษาชีวิตบุคคล
 

สช.- สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล
สช.- สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล