นานาชาติร่วมถกอาเซียนรับมือการค้าเสรี

   เมื่อวันที่ 19 - 20 พ.ย.2562 ที่โรงแรมเมอเวนพิคฯ มีการจัดประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (ITH) ประจำปี 2562 หัวข้อ “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพของอาเซียน: แสวงจุดร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดโดยคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจ.คส. หรือ NCITHS) และเครือข่าย
 
   การประชุมในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับหลากหลายองค์กรจากประเทศต่างๆ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยจะนำเสนอผลการประชุมไปยังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์กำลังเดินหน้ารื้อฟื้นการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อียู หลังจากเวียดนามได้บรรลุข้อตกลงเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว
 
   นพ.ศุภกิจ สิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลวิชาการเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้กำหนดนโยบายทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสุขภาพประชาชน เวทีวิชาการเช่นนี้จึงมีความสำคัญมากในสถานการณ์ที่โลกหันมาสร้างข้อตกลงการค้าในระดับภูมิภาคและทวิภาคีมากขึ้น ซึ่งดำเนินการกันได้รวดเร็วกว่าการตกลงกันในองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับการรวมกลุ่มกันในอาเซียน ประเทศสมาชิกมีความต่างกันในหลายมิติแต่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นเราต้องใช้ความเป็นหนึ่งเดียวนี้ ชักนำเพื่อนอาเซียนให้มาร่วมปกป้องผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการค้าเสรี
 
   นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีต่างๆ จะเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันและเกิดความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งปัจจุบันมีข้อตกลงระหว่างประเทศและภายในภูมิภาคต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักมองเป้าในเชิงการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เราต้องไม่มองข้ามเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ของอาเซียน การประชุมวิชาการจะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและต่างประเทศ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งเรื่องนโยบายและประสบการณ์ต่างๆ เพื่อนำสู่ข้อเสนอแนะที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
 
   นายสุริยา จินดาวงษ์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Building ASEAN Community: political economy of trade and health” ว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคมีความหลากหลายมากที่สุดในโลกภูมิภาคหนึ่ง แต่ก็มีจุดร่วมกันที่จะได้ประโยชน์สำหรับทุกประเทศ สร้างความร่วมมือกันได้ไม่น้อย เช่น กรณีโรค ‘ซาร์’ ถ้าปราศจากความร่วมมือในภูมิภาคก็จะจัดการยากลำบาก ทั้งนี้ความร่วมมือควรมีทั้งในมิติกฎหมายและที่ไม่ใช่กฎหมาย อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือ ความยั่งยืน ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนได้พยายามผลักดันกรอบความร่วมมือร่วมรูปธรรมใน 7 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านการแพทย์ทหาร ศูนย์การพัฒนาสวัสดิการสังคม ฯลฯ และยังมีการขยายความร่วมมือนอกภูมิภาคอาเซียนด้วย ความร่วมมือเหล่านี้จะเป็นต้นทุนให้เราช่วยกันเฝ้าระวังผลกระทบจากเรื่องต่างๆ รวมถึงการค้าเสรีได้
 
   ภายในงานประชุม 2 วันเต็มมีการอภิปรายกันในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเปิดเสรีการค้าและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคอาเซียน, การค้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การค้าระหว่างประเทศและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการพยายามหาจุดร่วมด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งองค์การอนามัยโลก องค์การการค้าโลก สำนักงานเลขานุการอาเซียน UNCTAD องค์กรพัฒนาเอกชนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียน และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
 
   นส.ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (ITD) กล่าวว่า การค้าเกี่ยวพันกับสุขภาพในแง่ที่ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นแต่ก็อาจสร้างผลกระทบ เช่น ช่องว่างความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น และแนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ ยิ่งการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มสูง เรายิ่งพบการฆ่าตัวตายของประชากรที่สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการพัฒนาอื่นๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนาคาดว่าจะได้รับจากการเปิดเสรีการค้าก็มีน้อยอย่างยิ่ง เช่น งบศึกษาวิจัยของบริษัทข้ามชาติทั้งหลาย มีเพียง 1% เท่านั้นที่ทำเพื่อการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากับข้อตกลงต่างๆ ยังมีแนวโน้มจะสร้างปัญหาสาธารณสุขให้กับประเทศกำลังพัฒนาด้วย
 
   น.ส.ดวงทิพย์ กล่าวต่อว่า แม้อาเซียนจะจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะหรือ well-being อย่างมากในช่วงหลัง แต่กลับไม่ได้สร้างมาตรการหรือการวัดผลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ในรายงานต่างๆ ก็มักมีแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ดังนั้นเส้นทางในการคุ้มครองสุขภาพและสร้าง well-being ในอาเซียนให้เกิดขึ้นจริงยังคงอีกยาวไกล
 
   ศ.แอนดรูว์ มิทแชลล์ (Prof. Andrew Mitchell) จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย ยกตัวอย่างว่า ข้อตกลงการค้าเสรีอาจเป็นอุปสรรคทำให้รัฐไม่สามารถทำหน้าที่ออกนโยบายสาธารณะได้ด้วย เช่น กรณีบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ฟ้องรัฐบาลต่างๆ หลังออกมาตรการจำกัดการโฆษณาหรือจำกัดการผลิตบางอย่าง ที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลต้องต่อสู้คดี แม้ท้ายที่สุดจะชนะคดีแต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก เช่น รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายค่าดำเนินการต่อสู้คดีกับบริษัทฟิลิปส์มอริส ถึง 39 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย
 
   นายทาน เฮียง (Tan Tai Hiong) จากสำนักงานเลขานุการอาเซียนได้ยกตัวอย่าง ข้อตกลงการค้าด้านการบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะบริการทางการแพทย์ ทันตกรรม สัตวแพทย์ การพยาบาล ฯลฯ ว่า แต่ละประเทศมีข้อจำกัดต่างๆ กัน และต่างก็พยายามลดข้อจำกัดของตนหรือเปิดรับประเทศอื่นมากขึ้น โดยอาเซียนได้จัดทำ AEC Blueprint 2025 หรือสิ่งที่คาดหวังจะทำในสิบปีข้างหน้า และเป็นครั้งแรกที่มีการพูดเรื่อง healthcare หรืออุตสาหกรรมสุขภาพครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้าง ผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ไว้
 
   ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีการหยิบยกเรื่อง “การค้าขยะข้ามพรมแดน” โดยตัวแทนจากประเทศฟิลิปปินส์เล่าเส้นทางการต่อสู้ที่ภาคประชาชนสามารถผลักดันกฎหมายเรื่องการห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกได้สำเร็จ สำหรับสถานการณ์ในไทย น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรีไซเคิลกำลังเฟื่องฟู และประเทศ G8 เป็นตัวหลักในการผลักดันให้ข้อตกลงการค้าเสรีมีการค้าขายขยะข้ามพรมแดน ดังนั้น ข้อตกลงทุกฉบับจะพบสินค้าที่เป็นขยะนับพันรายการ ตั้งแต่ขยะเทศบาลถึงขยะกัมมันตรังสี
 
   น.ส. เพ็ญโฉม กล่าวต่อไปว่า ข้อตกลงการค้าเสรี และข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รวม 54 ฉบับต่างก็มีผลโดยตรงให้ไทยนำเข้าขยะมากขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันมีชาวบ้านจาก 7 จังหวัดที่เดือดร้อนจากอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่ไม่ได้มาตรฐานและกำลังร้องเรียนกับรัฐบาล ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านในจังหวัดราชบุรีซึ่งเผชิญกับการฝังกากของเสียอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานตามกฎหมายและกำลังฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทเอกชน เป็นต้น
 
   ศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปในภาพกว้างว่า การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียน เพราะนานาประเทศล้วนถูกกดดันให้เลือกข้าง ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็พยายามสร้างอิทธิพลด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ท่ามกลางการแข่งขันเช่นนี้ อาเซียนซึ่งเป็นภูมิภาคที่เน้นความร่วมมือมากกว่าแข่งขันและมีจุดแข็งอย่าง ASCC Blueprint 2025 ซึ่งมีความร่วมมือด้านสุขภาพ สาธารณสุข สวัสดิการสังคม การบรรเทาความยากจน การสร้างเครือข่ายทางสังคม ฯลฯ จึงต้องผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทสำคัญให้ได้ และควรให้ความสำคัญกับ ASCC Blueprint 2025 ให้นำไปปฏิบัติจริง แล้วเชื้อเชิญมหาอำนาจ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ออสเตรเลีย หรือคู่เจรจาอื่นๆ มาร่วมมือ
 
   สำหรับแนวทางการดำเนินการในอนาคต นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานคณะอนุกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งต่อไป ควรมีการนำเสนอข้อมูลผลงานทางวิชาการมากขึ้น และมีผู้เข้าร่วมประชุมที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะสัดส่วนของภาคเอกชน แล้วผลักดันให้ผลจากการประชุมนี้เกิดผลจริงด้วย เพราะการค้าเสรีโดยเฉพาะทวิภาคียังมีประเด็นที่ต้องการคำตอบอยู่อีกมาก
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำเสนอต่อ คจ.คส. และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป

 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143