ตอนที่ 1 ระวัง! อย่า ‘ซื้อยา’ มาทำร้ายตัวเอง

   เชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะขี้เกียจไปหาหมอ เบื่อหน่ายการรอคิว แล้วยังต้องคอยลุ้นตัวเลขค่ารักษาพยาบาลอีก หลายครั้งที่เจ็บป่วยจึงสวมวิญญาณผู้เชี่ยวชาญ เปิดอินเทอร์เน็ตวินิจฉัยอาการ ก่อนจะตัดสินใจซื้อยากินเอง
 
   แต่เราอยากเตือนคุณว่า การซื้อยากินเองเต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะการรักษาแต่ละโรคแต่ละอาการ สัมพันธ์กับความเฉพาะโรค เฉพาะปัจเจกของตัวคุณ ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ฯลฯ
 
   ฉะนั้น การเดิมดุ่มๆ เข้าไปซื้อยา อาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี !!
 
   มากไปกว่านั้น คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่คุณไปซื้อเอง ถูกต้อง เหมาะสม มีหลายครั้งหลายคราที่คนทั่วไปตกเป็นเหยื่อของ “โฆษณา” และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาที่ฝังหัวมาอย่างยาวนาน
 
   ตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อป่วยเป็นหวัดที่เกิดจากไวรัส คุณอาจวิ่งหาซื้อยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) โดยไม่เคยรู้มาก่อนว่ายาปฏิชีวนะเหล่านั้นใช้ฆ่าแบคทีเรียแต่ฆ่าไวรัสไม่ได้ ซึ่งหากคุณกินยาปฏิชีวนะบ่อยเข้าๆ คุณมีโอกาสจะแพ้ยา-ดื้อยา และเกิดโรคแทรกซ้อนได้
 
   นอกจากนี้ เราอยากชวนคุณมองไปรอบบ้านแล้วเริ่มสำรวจว่า มียาเหลือใช้อยู่หรือไม่ มียาบางรายการที่คุณเองก็จำไม่ได้ว่าคือยาอะไรหรือเปล่า หรือถึงคุณจะทราบแต่คุณก็อาจลืมไปแล้วว่ายานี้ซื้อมาตอนไหน-หมดอายุหรือยัง
 
   นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่จะนำอันตรายมาสู่คุณ เพราะนอกจากการกินยาไม่ครบ-ไม่ถูกขนาดแล้ว คุณอาจพลาดท่าให้กับยาธรรมดาๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอันตรายอะไรก็ได้
 
   น้อยคนจะรู้ว่ายาแก้ปวดที่เราคุ้นชินเพียง 1-2 เม็ด มีฤทธิ์ร้ายกาจถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยที่ไตไม่ดีเกิดภาวะไตวายรุนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
 
   เหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งจากพฤติกรรม “การใช้ยาไม่สมเหตุผล” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการซื้อยากินเอง หรือความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย
 
   อย่างไรก็ดี ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในฟากฝั่งของผู้ป่วย-ผู้บริโภคเท่านั้น หากแต่ประเด็นเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นและสร้างปัญหาในอีกหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคนใน “ชุมชน”
 
   เริ่มต้นที่กลุ่มผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ หรือ NCDs ที่มักพบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น ได้รับยาซ้ำซ้อน การครอบครองยาเกินความจำเป็น และไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัย ประสิทธิภาพในการรักษา และความสูญเสียทางการคลัง
 
   อีกหนึ่งส่วนคือ “โรงเรียน” ซึ่งทุกวันนี้ยังมีช่องว่างทางการจัดการอยู่ คุณครูในห้องพยาบาลอาจขาดความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยาเพื่อรักษาหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนความพร้อมของอุปกรณ์-สถานที่ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทั้งในชุมชนเมือง-ชนบท
 
   ประเทศไทยมีมูลค่าการบริโภคยาคิดเป็นร้อยละ 41 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และจากผลการศึกษา พบการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นในทุกระดับ ทั้งการใช้ยาในสถานพยาบาลไปจนถึงการใช้ยาในชุมชน โดยข้อมูลปี 2555 พบผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินความจำเป็น และรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในส่วนนี้ประมาณ 2,370 ล้านบาท
 
   นอกจากนี้ ปัญหา “การใช้ยาไม่สมเหตุผล” ยังนับเป็นปัญหาในระดับโลก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาในประเทศกำลังพัฒนาเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมและสูญเปล่า โดยการใช้ยาไม่สมเหตุผลที่พบบ่อย ได้แก่ การใช้ยาหลายขนานร่วมกัน การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม การใช้ยาฉีดเกินความจำเป็น รวมไปถึงการสั่งใช้ยาไม่เป็นไปตามแนวทางการรักษา เป็นต้น
 
   สถานการณ์ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้ประกาศระเบียบวาระ “การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง” เป็นหนึ่งในระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ เพื่อร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในการใช้แก้ปัญหาให้ได้ผลจริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143