ตอนที่ 2 ‘โลก’ ล้อม ‘ไทย’ ... ถึงเวลา ‘แบน’ แร่ใยหินหรือยัง

   ในขณะที่หลายประเทศกำลังทยอยเลิกใช้ “แร่ใยหิน” ประเทศไทยกลับติด “TOP 10” ประเทศผู้นำเข้าแร่ใยหินสูงที่สุดในโลก
 
   เหตุผลเดียวที่นานาประเทศต่างพากันยกเลิกการใช้แร่ใยหินก็คือ “ทำร้ายสุขภาพประชาชน” ขณะที่ประเทศไทยเคยมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2554 ที่จะทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่บรรลุผล
 
   ข้อมูล ณ ปี 2561 จาก Global Overview: Asbestos Landscape 2018 ของ Laurie Kazan-Allen ซึ่งทำการสำรวจสถานการณ์แอสเบสตอสระดับนานาชาติ พบว่า ปัจจุบัน (2018) มีประเทศที่มีกฎหมายยกเลิกแร่ใยหินไปแล้ว 66 ประเทศ ขณะที่มีอีกราวๆ 129 ประเทศ ที่แม้จะยังไม่มีกฎหมายยกเลิก แต่ก็มีการใช้แร่ใยหินอยู่ในระดับที่น้อยมาก หรือไม่มีการใช้เลย
 
   ที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มประเทศหลักที่ยังมีการใช้ หรือราวๆ 70% ของประเทศที่ยังมีการใช้แร่ใยหิน อยู่ในทวีปเอเชีย และที่มากไปกว่านั้นคือ มี 26 ประเทศ ที่ใช้แอสเบสตอสมากกว่าปีละ 500 ตัน และมีถึง 5 ประเทศ ที่ใช้มากกว่าปีละ 1 แสนตัน นั่นคือ อินเดีย จีน รัสเซีย บราซิล และอินโดนีเซีย
 
   อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ผู้ผลิตอย่าง รัสเซีย จีน ใช้แร่ใยหินมากกว่าปีละ 1 แสนตันต่อปี ประเทศผู้ผลิตอีกกลุ่มหนึ่ง คือ แคนาดา และบราซิล กลับยกเลิกการใช้และการส่งออกแร่ใยหินไครโซไทล์ ในปี 2560-2561
 
   ในส่วนของอาเซียน สิงคโปร์ และบรูไน ได้ประกาศยกเลิกใช้แร่ใยหินไปแล้ว ส่วนประเทศลาวเตรียมที่จะยกเลิกในปี 2563 และถัดจากนั้นอีก 3 ปี คือในปี 2566 ก็จะเป็นคิวของเวียดนาม
 
   นอกจากนี้ ในปัจจุบัน 8 ประเทศ อันประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย และไทย ได้รวมกันเป็นเครือข่ายเรียกร้องให้มีการยกเลิกใช้แร่ใยหิน ในนาม “เครือข่ายเรียกร้องการยกเลิกแร่ใยหินในอาเซียน” หรือ SEA-BAN
 
   จะเห็นได้ว่า ในระหว่างที่ทิศทางหลักของโลกกำลังพุ่งตรงไปในทางเดียวกัน คือ ‘ยกเลิกใช้แร่ใยหิน’ แต่ประเทศไทยกลับยังเพิกเฉย โดยข้อมูลจากโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน ปี 2558 ระบุว่า มีกิจการที่ใช้แร่ใยหินมากกว่า 7,000 แห่ง โดย 90% หรือราวๆ 6,461 แห่ง ใช้ในงานก่อสร้าง ทำท่อซีเมนต์ ทำกระเบื้องมุงหลังคา ขณะที่ 8% ใช้ในผ้าเบรกและครัตช์ ส่วนอีก 2% เป็นกระเบื้องปูพื้น และวัสดุกันไฟหรือกันความร้อน
 
   ประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ใยหินมาเป็นเวลากว่า 70 ปี โดยบริษัทเอกชนนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้างต่างๆ ปริมาณการนำเข้าอาจขึ้นอยู่กับสภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังเช่นปี 2540 ที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู มีการนำเข้าแร่ใยหินสูงถึงเกือบ 1.8 แสนตัน
 
   อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตกก็เริ่มมีการนำเข้าลดลง และลดลงอีกครั้งหลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2553 มีฉันทมติร่วมกันในระเบียบวาระ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” อย่างไรก็ดี ตัวเลขการนำเข้าในปัจจุบันยังอยู่ในอัตราที่สูงมาก โดยปี 2560 มีการนำเข้าถึง 4 หมื่นตัน
 
   ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีเต็มของการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ พบว่ามีสถานการณ์-ข้อมูลต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก และจนถึงขณะนี้ประเทศไทยก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้คือ “แบนแร่ใยหิน” ให้พ้นจากประเทศ
 
   ที่สุดแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ปี 2562 จึงได้ประกาศให้ประเด็นแร่ใยหินเป็นหนึ่งในระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอีกครั้ง โดยในปี 2562 นี้จะใช้ชื่อว่า “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน”
 
   ทั้งหมดเพื่อร่วมกันจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะนำไปสู่การ “แบนแร่ใยหิน” ให้สำเร็จอย่างแท้จริง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143