เกษตรและอาหารปลอดภัย เตรียมคัดพื้นที่ ถอดบทเรียน

   ปัญหาสารเคมีทางการเกษตรนับเป็นเรื่องใหญ่ในระดับโลก และเป็นวาระสำคัญของไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเกษตรกรรมสูง
 
   ตลอดระยะเวลา 11 ปีของการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม นับตั้งแต่ปี 2550 ที่มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะที่เกิดจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 81 มติ เป็นมติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัยใน 4 มติ ประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในครั้งที่ 1 พ.ศ.2551 ประเด็น “เกษตรและอาหารในยุควิกฤต” ในครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ประเด็น “ความปลอดภัยทางอาหาร : การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” และประเด็น “การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร” และในครั้งที่ 8 พ.ศ.2558 ประเด็น “สุขภาวะชาวนา : การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา”
 
   ต่อมา ในช่วงต้นปี 2562 ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในเวลานั้น เป็นประธาน พบว่า ทั้ง 4 มีมติ มีนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทับซ้อนกัน จึงมีมติในการประชุมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนในลักษณะ “กลุ่มมติ” คือ เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เสริมพลังซึ่งกันและกัน และยังประโยชน์ให้แก่กัน บนหลักการสำคัญที่เรียกว่า “3 ก” ซึ่งประกอบด้วย ก.กฎ-กติกา ก.การบังคับใช้ และ ก.ก่อการดี
 
   ยุทธศาสตร์ในการขยายผลการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ ตลอดจนการสรุปบทเรียนเพื่อผลักดันข้อเสนอในการพัฒนาไปสู่ระดับนโยบาย คือ “การมีพื้นที่ต้นแบบขอการดำเนินงานที่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายให้เป็นที่ประจักษ์” ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 สช. จึงได้จัด การประชุมปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย “ด้าน ก.ก่อการดี” ที่มี รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ รองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้านสังคมและสุขภาวะ เป็นประธาน เพื่อเฟ้นหา “บทเรียน-พื้นที่ต้นแบบ” การจัดการระบบเกษตรและระบบอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ
 
   ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นที่ที่มีผลสำเร็จของการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ ช่วยกันระดมความเห็นถึงหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดในการคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบ จนได้ข้อสรุปใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ (1) เชิงกลไก เช่น พื้นที่มีการใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่เป็นเครื่องมือหรือขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) (2) เชิงพื้นที่ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ในพื้นที่ และ (3) เชิงนโยบายที่มี Intervention ที่ส่งผลต่อการปฏิบัติในพื้นที่ เช่น ระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วมที่มุ่งเน้นการรับประกันคุณภาพในท้องถิ่น (Participatory Guarantee Systems: PGS) หรือโครงการต่างๆ โดยเสนอให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดส่งข้อมูลพื้นที่รูปธรรมมายัง สช. เพื่อรวบรวมให้ง่ายต่อการค้นหา ซึ่งจะได้จัดสร้างเงื่อนไขหรือตัวชี้วัดในการคัดเลือกพื้นที่ต่อไป โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาจัดเรียงและแสดงผลผ่านช่องทางสื่อของ สช.
 
   ข้อมูลที่น่าสนใจจากวงประชุมตอนหนึ่ง ก็คือ ขณะนี้ สธ. ได้มีนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งมีอาหารที่ปลอดภัยบริการทั้งแก่ผู้ป่วยและญาติ ขณะนี้ ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จพอสมควรในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ปรับระเบียบ เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลสามารถซื้อผลิตผลจากเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีจากชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วย จัดสรรพื้นที่ให้มีการเพาะปลูกที่ผักปลอดสาร จัดตลาดสีเขียวให้เกษตรกร/ชุมชนมาจำหน่ายสินค้าปลอดสาร ปัจจุบันได้มีนโยบายขยายลงไปยังโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศด้วย ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็มีนโยบายสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียนที่สะอาด ปลอดภัย และให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนเหมาะสมกับวัย
 
   ซึ่งจากปัญหาเดิมที่ไม่มีตลาดรองรับผลผลิต กลับเป็นว่ามีจำนวนผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่และผู้ซื้อไม่รู้จักแหล่งผลิตโดยเฉพาะที่มีอยู่ในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่ประชุมจึงเสนอให้ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลเกษตรกร แหล่งผลิตและผลผลิตตามฤดูกาลทั้งประเภทและจำนวน จัดทำเป็น Mapping โดยพัฒนาบน Application ที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ง่าย ซึ่งผู้แทนจากกรมพัฒนาที่ดินได้แจ้งว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นผู้พัฒนาฐานข้อมูลดังกล่าวในเบื้องต้นแล้ว
 
   และมีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ จะทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาตรการจำกัดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ หรือ ให้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ขับเคลื่อนประเด็น “การจัดการระบบอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน” ที่จะนำไปสู่การลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้มีการทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนเกษตรกรที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่ต้นแบบ และช่วยเหลือในช่วงของการปรับตัว
 
   ในตอนท้าย ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยมีข้อเสนอให้จัดทำข้อสรุปผลสำเร็จจากการดำเนินงาน พร้อมข้อเสนอในการสนับสนุนจากกระทรวงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อผู้บริหารระดับนโยบาย เพื่อปรึกษาหารือ บอกเล่าถึงสถานการณ์ความจำเป็น รวมถึงเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143