สช. เติบใหญ่ สร้างบ้าน และสร้างงาน

   วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เป็นวันแรกของปีงบประมาณใหม่ และเป็นวันแรกที่ผมได้เริ่มงานในหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับทีมงานเจ้าหน้าที่ สช. และจะมีโอกาสร่วมงานกับเพื่อนๆ ภาคีเครือข่ายที่หลากหลายในพื้นที่ แทน นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่ลาออกไปเพราะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งที่ผ่านมาอดีตเลขาธิการ คสช. นับแต่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ต่อด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และทีมงาน สช. ร่วมกับเพื่อนภาคีเครือข่ายทั้งในระดับชาติและพื้นที่ ได้สร้างผลงานให้ สช. จนเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนของประเทศ ดังนั้นภารกิจของผมจึงเน้นที่จะสานและต่อยอดงานภายใต้แนวคิดว่า “สช. เติบใหญ่ สร้างบ้าน และสร้างงาน” เพื่อให้ “งานสำเร็จ เครือข่ายเข้มแข็ง และคน สช. มีความสุข” ทำให้ สช. เดินไปข้างหน้าพร้อมกับเพื่อนๆ ภาคีได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับประเทศได้มากยิ่งขึ้น
 
   เริ่มแรกจากแนวคิดที่ว่า สช. มีหน้าที่เน้นหนักในเรื่องพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อกับการสร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเชิงระบบ ไม่ใช่หน่วยงานที่เน้นหนักด้านปฏิบัติการบริการประชาชนหรือบริการสังคมเหมือนกับสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ใช่หน่วยงานที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิเหมือนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือหน่วยงานที่รณรงค์การควบคุมปัจจัยเสี่ยงหรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพเหมือนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
   เป็นเพราะภารกิจของ สช. เป็นหน่วยงานด้านการพัฒนานโยบายสาธารณะและการขับเคลื่อนนโยบายเชิงระบบที่หวังผลลัพธ์ได้ในระยะปานกลางและระยะยาว กลุ่มเป้าหมายการร่วมขับเคลื่อนของ สช. จึงเป็นภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งรวมถึงหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจเอกชนทางด้านสุขภาพ
 
   จากแนวคิดมาถึงการปฏิบัติที่เน้นการ “สานและต่อยอดงาน” ผมมี ๔ ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องจะดำเนินการ ประเด็นแรกคือต้องปรับให้ สช. ที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกนโยบายที่คับแคบของอำนาจรัฐทำให้กลายเป็นหน่วยงานราชการทั่วไปแบบเดิมๆ จึงต้องดึงกลับมาเป็นหน่วยรัฐแบบใหม่ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีสมรรถนะสูง มีธรรมาภิบาลสูง มีวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดเอาประชาชน เครือข่ายภาคี และปัญหาของประเทศเป็นศูนย์กลาง ทำหน้าที่สานพลังของทุกภาคส่วนทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ ให้มาช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
 
   ประเด็นที่สองก็คือ งานที่ถูกกำหนดตามกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะงานด้านการคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของประชาชน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินงานและพัฒนาเครื่องมือ กลไกที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) ที่กำหนดไว้เป็นสิทธิของประชาชนไทยตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมาทำได้ดีและเดินเข้าสู่ระบบบริการได้เกินครึ่งแล้ว ในช่วงเวลาข้างหน้านี้ สช.กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นโดยมีเป้าหมายทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการบริการปกติที่มีอยู่ในหน่วยบริการสาธารณสุข โดยการขยายการขับเคลื่อนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ของผู้บริหารโรงพยาบาล ของบุคลากรวิชาชีพที่ให้บริการ รวมถึงของผู้ป่วยและญาติ หรืออย่างเรื่องของ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ ทั้งโครงการจากรัฐบาลหรือในพื้นที่ หรือ HIA เครื่องมือชิ้นนี้ต้องทำให้เป็นเครื่องมือทางวิชาการที่มีสถาบันทางวิชาการเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อทำให้ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานผู้กำหนดนโยบายและกลุ่มคนที่ถูกกระทบจากนโยบายดังกล่าวสามารถเดินไปสู่การพูดคุยและหาทางออกร่วมกันได้โดยมีเครื่องมือทางวิชาการและกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นตัวช่วย
 
   ประเด็นที่สามคือการ “เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” และการสร้าง “ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ” ในยุคข้างหน้านี้ต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงให้จับต้องได้ง่ายมากขึ้น ให้บางภาคส่วน เช่น หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจเอกชนทางด้านสุขภาพ หรือคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ขาขึ้น ขาเคลื่อน และขาประเมินมากขึ้น
 
   ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะทำ คือ การมีกลไกที่ชัดเจนที่มีพลังมากขึ้น และมีความเข้มแข็งของภาคประชาชน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่จังหวัดและตำบล เพราะเป็นระดับพื้นที่ที่มีภาคส่วนต่างๆ อยู่ครบและมีประเด็นเฉพาะของพื้นที่ให้แก้ไขหรือให้พัฒนาต่อยอดได้ ทำให้เกิดเป็น “หุ้นส่วนของการพัฒนาในพื้นที่” ขึ้นมา ถ้าทำได้ก็จะเกิดการทำงานร่วมกันของภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาควิชาการในพื้นที่ คนรุ่นใหม่ เป็นภาคีหุ้นส่วนกับหน่วยงานตัวแทนของอำนาจรัฐส่วนกลาง ทำให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายการจัดการ และร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น
 
   ครั้งหน้าผมจะมาพูดลงลึกถึงในแต่ละประเด็นในแง่ปฏิบัติให้ชัดเจนมากขึ้นครับ สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณพวกเราชาวสุชน ขอบคุณพี่ๆ น้องๆ และเพื่อนๆ จากเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่ให้การต้อนรับผมในโอกาสการเริ่มต้นงานอย่างอบอุ่น และที่สำคัญมากกว่าคือให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานของ สช. มาจนถึงทุกวันนี้ครับ...ขอบคุณครับ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143