“สานต่อและต่อยอด”

   ผมคิดว่า 4 ประเด็นใหญ่ๆ ที่จะดำเนินการ ประเด็นแรกคือ ที่จริงแล้ว สช. ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการทั่วๆ ไป แต่เป็นหน่วยงานแบบใหม่ แต่ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานแบบใหม่นี้กลับได้รับการกระทบหรือความเสียหายจากความพยายามถูกดึงให้ไปเป็นหน่วยงานราชการแบบเก่า ซึ่งผมคิดว่าจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยถ้ากลับไปเป็นแบบนั้น
 
   ฉะนั้น ต้องพยายามดึง สช. ให้กลับมาเป็น “หน่วยราชการแบบใหม่” ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่มีสมรรถนะสูง มีธรรมาภิบาลสูง เพื่อจะทำหน้าที่ในการเติมพลังของทุกภาคส่วนทั้งหลาย ทั้งระดับชาติ ระดับพื้นที่ ให้มาช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดีขึ้น
 
   สช. ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นหน่วยงานรัฐ โดยหน่วยงานรัฐที่เรารู้จักทั่วไปก็คือระบบราชการ ก็คือกระทรวงทั้งหลาย แต่ก็จะมีหน่วยงานรัฐอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดมาในยุคหลัง เช่น องค์การมหาชน อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งก็มีประสิทธิภาพในการจัดการ มีความเป็นอิสระ ภารกิจหลักขึ้นอยู่กับความต้องการของพื้นที่ แต่รัฐบาลยังสามารถเข้ามาดูแลกำกับทิศทางนโยบายได้
 
   สำหรับ สช. เอง คงไม่ถึงกับเป็นองค์การมหาชน แต่ทุกวันนี้ สช. มีความเกี่ยวข้องกับ 2 กลไกสำคัญ โดยกลไกแรกคือ “คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (ปัจจุบันนายกฯ มอบหมายให้รองนายกฯ คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธาน) และมีรัฐมนตรีหรือตัวแทนอีกถึง 6 กระทรวง ประกอบกับภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานระดับ “ซูเปอร์”
 
   กลไกนี้เทียบได้ว่าเป็น “คณะรัฐมนตรีน้อยด้านสุขภาพ” ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจในการออกกฎระเบียบ-ทิศทางการทำงานของ สช. ได้ ดังนั้นจะดึงกฎระเบียบต่างๆ เหล่านี้กลับมาได้ คือไม่ใช่กฎระเบียบเหมาโหลแบบระบบราชการ
 
   สำหรับกลไกที่สองคือ “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งต้องเป็น “องค์กรจิ๋วแต่แจ๋ว” สามารถกำหนดวิธีการบริหารจัดการกำลังคน รวมทั้งกำหนดทิศทางการทำงานได้ ซึ่งแม้ว่า สช. จำเป็นต้องพึ่งงบประมาณประจำปีของรัฐบาล แต่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งตัวแทนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็คือคณะกรรมการบริหาร สช. มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์แผนประจำปีได้
 
   ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้นก็คือ การมีบอร์ดใหญ่ซึ่งเปรียบดั่ง “ครม.น้อยด้านสุขภาพ” แล้วมีตัวแทนเป็น “บอร์ดบริหารเล็ก” ไว้กำกับการทำงาน สามารถสร้างระเบียบ สร้างความคล่องตัว เพื่อดำเนินภารกิจของ สช. ตามกฎหมายต่อไปได้ ตรงนี้ก็จะสามารถดึง สช. ให้กลับมาเป็นองค์กรของรัฐแบบใหม่ ตามที่กฎหมายออกแบบไว้ได้
 
   ขอขอบคุณที่มา จากบทสัมภาษณ์บางส่วนที่ลงอยู่บนเว็บไซต์ Hfocus วันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2562 อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นี่
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143