เปิดแนวทางแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 สช. เล็งจัดเวทีพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สร้าง กทม. โฉมใหม่

   นักเศรษฐศาสตร์ชี้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลักหมื่นล้าน กุมารแพทย์แนะนำให้งดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็ก นักวิชาการเสนอสร้างดัชนีคุณภาพอากาศเชิงสุขภาพของไทยขึ้นเอง และเร่งปลูกพืชใบหยาบเพื่อช่วยดูดซับฝุ่นละออง ด้าน สช. พร้อมจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นหาทางออกวิกฤตฝุ่น ใช้โอกาสนี้ร่วมกันพลิกเมืองกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม
 
   ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่แผ่คลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลายจังหวัด กำลังเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ต้องหาทางออกโดยเร่งด่วน ด้วยเหตุนี้กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน Bangkok Breathe และโรงเรียนรุ่งอรุณ สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ Thai PBS (ไทยพีบีเอส) จึงร่วมกันจัดเวทีพูดคุย ‘มลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย’ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อร่วมกันหาทางออก
 
   พญ.ปองทอง ปูรานิธี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อเด็กว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดของเด็กได้
 
   “เด็กจะมีความเสี่ยงมาก เพราะอยู่ใกล้พื้นดิน และเด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ดูดซึมมลพิษได้มากกว่า และถ้าเด็กวิ่งเล่นหรือออกกำลังกาย จะยิ่งหายใจเร็ว ก็จะรับมลพิษเข้าร่างกายได้มากขึ้น ขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ จึงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ ถ้ารับมลพิษตั้งแต่อายุน้อยก็จะเกิดโรคในระยะยาวได้” พญ.ปองทอง กล่าวพร้อมแนะนำว่า ในสภาวะที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กและอยู่ในอาคารที่ปิดมากที่สุดเพื่อป้องกันฝุ่นจากสภาพแวดล้อมภายนอก
 
   ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ระบุว่า ตอนนี้สาธารณะสนใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับดัชนีคุณภาพอากาศมาก แต่อยากให้ใส่ใจสารก่อมะเร็งที่มากับฝุ่นเหล่านี้ด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานควบคุมสารก่อมะเร็งในชั้นบรรยากาศ จากงานวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยสารก่อมะเร็ง 19 ชนิด ในกรุงเทพมีปริมาณสูงสุด ตามด้วยเชียงใหม่และภูเก็ต
 
   ผศ.ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินคุณภาพอากาศและมลพิษทางอากาศ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ตอนนี้เหมือนอยู่ในห้องที่เพดานต่ำลงมา ทำให้ฝุ่นสะสมค่อนข้างมาก และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาว ประเทศไทยควรสร้างดัชนีคุณภาพอากาศเชิงสุขภาพ (Air Quality Health Index: AQHI) เพื่อเป็นมาตรฐานในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ นอกจากนี้ในด้านการติดตามสภาพอากาศ ผศ.ดร.เอื้อมพร แนะนำว่าควรใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับการอ้างอิงคุณภาพอากาศที่มีการอัพเดทที่สุดและเครื่องมือที่ใช้วัดที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่น แอพพลิเคชั่นแอร์ฟอไทยของกรมควบคุมมลพิษ เป็นต้น
 
   ในส่วนของมาตรการแก้ปัญหา นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ อายุรแพทย์ด้านหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสนอการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เช่น กระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดมาตรฐานเครื่องป้องกันและควบคุมราคาเครื่องฟอกอากาศ ในฟากกรมควบคุมมลพิษก็ควรตรวจสอบโรงงานและแหล่งก่อมลพิษต่างๆ รวมถึงการจัดการจราจรในกรุงเทพฯ เพื่อลดการปล่อยควันจากรถยนต์
 
   รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายในแง่เศรษฐศาสตร์ว่า ทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM10 ที่เกินกว่าระดับปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน จะสร้างความเสียหายแก่คนกรุงเทพฯ มูลค่า 18,400 ล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่าเมื่อเป็นฝุ่น PM 2.5 จะยิ่งสร้างความเสียหายมากกว่า ในคราวนี้จึงขอเสนอมาตรการแก้ปัญหา 6 อย่าง คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษ ลดการปล่อยฝุ่นพิษจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในรถยนต์ ลดฝุ่นจากการเผาในที่โล่งแจ้งในภาคเกษตร ควบคุมและตรวจสอบการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม สร้างความร่วมมือ ข้อตกลง และใช้มาตรการทางการค้าเพื่อป้องกันมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน และการประเมินผลความสัมฤทธิ์ของมาตรการต่างๆ
 
   ผศ.ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอมาตรการระยะยาวด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยให้พิจารณาต้นไม้ที่ไม่ผลัดใบหรือใบร่วงน้อย เลือกพืชที่ใบมีขน มีความสากของใบ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าต้นไม้ที่ใบผิวหยาบ มีความสาก หรือมีขน จะสามารถดักจับฝุ่นได้ดีกว่าต้นไม้ที่มีผิวใบเรียบ ดังนั้น ต้นไม้ใหญ่และไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กจำนวนมากจะมีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นละอองสูงกว่าต้นไม้ที่มีใบขนาดใหญ่แต่มีจำนวนใบน้อย
 
   ด้าน ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากเวทีพูดคุยวันนี้ทำให้เห็นว่าฝ่ายวิชาการมีความเข้มแข็งมากในด้านข้อมูล ดังนั้น บทบาทต่อจากนี้ของ สช. คือการทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิชาการ ภาคประชาชน และฝ่ายนโยบายเข้าหากันตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สร้างกระบวนการปรึกษาหารือ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และดึงข้อเสนอที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันไปสู่การปฏิบัติ
 
   “วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะใช้พลิกฟื้นกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องฝุ่น แต่รวมถึงประเด็นอื่นๆ อย่างเมืองสีเขียว เมืองจักรยาน กระบวนการต่างๆ จะประกอบเป็นภาพใหญ่ที่จะพลิกเมืองกรุงเทพฯ อย่างเป็นรูปธรรม” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143