NCITHS สนับสนุนเวทีใหญ่ถก TPP ศึกษาผลกระทบสุขภาพทุกมิติ

   คณะกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลระทบต่อสุขภาพฯ หรือ NCITHS แนะควรศึกษาผลดีผลเสีย TPP ในทุกด้าน ห่วงผลเสียต่อระบบสุขภาพคนไทย สนับสนุนให้จัดเวทีประชุมวิชาการครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ ให้ทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่แนวทางเจรจาที่สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสุขภาพ
 
   ดร.ศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (National Commission on International Trade and Health Studies: NCITHS) เปิดเผยว่า เนื่องจากประเด็นเรื่อง ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) กำลังได้รับความสนใจมาก โดยมีประเทศสมาชิกลงนามไปแล้วทั้งหมด ๑๒ ประเทศ ส่วนประเทศไทยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงผลดีและผลเสียอย่างรอบด้าน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้มอบให้ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดำเนินการศึกษาถึงผลกระทบด้านต่างๆ
 
   ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งกลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ ขึ้นมาเพื่อศึกษาข้อมูลให้ได้ข้อเสนอที่ชัดเจนสำหรับให้รัฐบาลนำไปใช้ประโยชน์
 
   นอกจากนี้ ล่าสุด คณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) ที่มี นพ.วิพุธ พูลเจริญ เป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เริ่มหารือกับนักวิชาการจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเวียดนาม ซึ่งเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP แล้ว เพื่อทำการศึกษาร่วมกันถึงผลกระทบจาก TPP ต่อเรื่องการเข้าถึงยาด้วย ซึ่งหวังว่าข้อมูลต่างๆ ที่หลายฝ่ายกำลังศึกษานี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยในอนาคตเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเรื่อง TPP
 
   ดร.ศิรินา ยังกล่าวอีกว่า คณะกรรมการ NCITHS ได้เห็นชอบให้ร่วมกับแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ (International Trade and Health: ITH) มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการ การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพ ระหว่างวันที่ ๘-๑๐ ส.ค. ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นการจัดประชุมปีที่ ๓ ติดต่อกัน โดยครั้งนี้จะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ และติดตามความตกลง TPP เป็นหลัก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงผลกระทบที่เชื่อมโยงระหว่างการค้าและระบบสุขภาพหากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบาย มาตรการรองรับ และการชดเชยเยียวยาผลกระทบต่อไป
 
   “สิ่งที่เกิดขึ้นจากเวทีนี้คือความสามัคคีร่วมมือกัน ซึ่งประเทศเราต้องการมาก แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างแต่ก็เข้าใจกันได้ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ตัดสินใจก็จะได้อาศัยเวทีนี้ในการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนความสมดุลและข้อมูลเชิงประจักษ์ หัวใจสำคัญคือ แม้ข้อตกลง TPP จะทำให้เราเป็นประเทศร่ำรวยขึ้น แต่จะมีประโยชน์อะไร หากทำให้คนไทยมีปัญหาทางสุขภาพ” ดร.ศิรินา ระบุ
 
   นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษา NCITHS กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรเร่ง ผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัย และนำงานวิจัยนั้นๆ มาพิจารณาร่วมแลกเปลี่ยนกันใน NCITHS ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นกลาง ก่อนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ส่วนการจัดเวทีที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เช่น การจัดประชุมวิชาการการค้าระหว่างประเทศและสุขภาพที่จะจัดนี้ ก็คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนไปในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ
 
   “หากรัฐนำความคิดเห็นต่างๆ ที่รอบด้านไปพิจารณาประกอบการจัดทำนโยบาย จะทำให้การตัดสินใจเข้าร่วม TPP มีความชอบธรรม ได้รับการยอมรับจากภาคประชาสังคม และอยู่บนผลประโยชน์ของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” นพ.สุวิทย์ กล่าว
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143