ดัน ‘พระนิสิตเมียนมา’ เป็นที่ปรึกษา-ที่พึ่งพาชาวแรงงานข้ามชาติ ฝ่า! วิกฤตโควิด

   คณะสงฆ์-ภาคี ระดมความเห็นดันแนวทาง หนุน “พระนิสิตเมียนมา” เป็นที่ปรึกษา-ที่พึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เตรียมเวิร์คช็อปกลางเดือน ก.พ. ติดชุดอาวุธความรู้-ข้อมูล ด้านกรมควบคุมโรค ชงแผนอบรมผ่าน “โรงพยาบาลสนาม” ครบ 14 วัน แรงงานสามารถกลับไปกระจายความรู้ต่อได้ในพื้นที่-สถานประกอบการ
 
   ภาคีหน่วยงานองค์กรด้านศาสนา สุขภาพ สังคม และการสื่อสาร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ในประเด็นต่อเนื่องถึงแนวทางการนำพระนิสิตชาวเมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านการสื่อสารและด้านจิตใจแก่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากโรคระบาดโควิด-19 ภายใต้แผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติ สู้ภัยโควิด-19 ระลอกใหม่”
 
   พระมหาประยูร โชติวโร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีพระนิสิตชาวเมียนมา ที่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ประมาณ 50 รูป ขณะที่อีกประมาณ 300 รูป สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งโดยปกติแล้วนิสิตพระชาวเมียนมาจะมีช่องทางการสื่อสาร หรือกิจกรรมของตนเองอยู่แล้ว เช่น องค์กรบริหารนิสิตในเมียนมาที่มีกิจกรรมทุกสัปดาห์ โดยการเทศน์ หรือพูดคุยสื่อสารผ่านช่องทางเฟสบุ๊คเป็นประจำ
 
   “ส่วนใหญ่พระนิสิตที่มาศึกษาหรืออาศัยในประเทศไทย จะเป็นพระผู้ใหญ่ หรือเป็นระดับเจ้าอาวาสในเมียนมา จึงเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของญาติโยมอยู่แล้ว ฉะนั้นหลายรูปจึงสามารถเทศน์ให้ความรู้ หรือนำความคิดได้ โดยเราอาจสนับสนุนด้านประสิทธิภาพในการสื่อสาร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดย มจร ยินดีและพร้อมสนับสนุนแผนงานนี้” พระมหาประยูร กล่าว
 
   สพ.ญ.ดร.รัตนพร ตั้งวังวิวัฒน์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่เสี่ยงหลักคือ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีกลุ่มคนที่เข้ามายังโรงพยาบาลสนามไม่ต่ำกว่า 500 คนต่อวัน โดยกรมควบคุมโรคได้ดำเนินกิจกรรมในส่วนของอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าว (อสต.) ที่คอยช่วยให้ความรู้ หรือตอบคำถามเบื้องต้น จึงเสนอให้มีการช่วยผลิตสื่อเผยแพร่ในโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการกักกันโรค 14 วัน ได้ศึกษาข้อมูลและสามารถนำไปปฏิบัติหรือถ่ายทอดกับผู้อื่นได้หลังจากการกักกันโรค และขณะนี้ยังขาดแคลนอาสาสมัครที่ช่วยแปลภาษาอยู่
 
   “กรมควบคุมโรค เตรียมจัดทำเนื้อหาหรือหลักสูตรอบรมระยะสั้น เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถกลับออกไปและให้ความรู้ในพื้นที่ต่อได้ หากพระนิสิตสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาสื่อตรงนี้ เป็นสื่อแบบเดียวกันที่สามารถนำไปใช้ในพื้นที่เสี่ยงได้เหมือนกัน ก็จะช่วยให้เราเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้” สพ.ญ.ดร.รัตนพร ระบุ
 
   นายประกาศิต กายะสิทธิ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในส่วนของ สสส. ได้รวบรวมสื่อต่างๆ รวม 5 ภาษา เผยแพร่บนเว็บไซต์ นับเราด้วยคน.com โดยมีเนื้อหาหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสามารถนำไปพิจารณาเพื่อดูในเบื้องต้นได้ อย่างไรก็ตาม มองว่าการสื่อสารในเรื่องเหล่านี้ ควรหาจุดร่วมเพื่อคัดกรองสื่อต่างๆ ร่วมกัน ไม่ให้เป็นการดำเนินงานแบบครั้งเดียวจบ แต่จะมีแผนต่อเนื่อง เป็นงานระยะยาวต่อไป
 
   “การเตรียมอบรมผู้ที่อยู่ในโรงพยาบาลสนามก่อนที่เขาจะกลับไปยังพื้นที่ ก็น่าจะเป็นตัวเปลี่ยนที่สำคัญ ในการเป็นกลุ่มที่จะไปสื่อสารคลายกังวลให้กับพี่น้องชาวเมียนมาได้ ซึ่งนอกจากพระนิสิตแล้ว อีกส่วนที่สำคัญคือกลุ่มก้อนของพื้นที่ เช่น ตลาด หอพัก หรือวัด ที่หากมีการสนับสนุนสื่อ ชุดความรู้ต่างๆ ก็จะช่วยให้สามารถดำเนินกิจกรรมไปในระยะยาวได้ โดย สสส.เห็นด้วยกับแนวทางของกิจกรรมนี้ และยินดีที่จะร่วมมือในทุกด้าน” นายประกาศิต กล่าว
 
   น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ในบทบาทการทำงานภาคประชาสังคม มีพี่น้องชาวเมียนมาทั้งที่อยู่ในสถานประกอบการ และเครือข่ายการศึกษานอกระบบ (กศน.) ที่เข้าไปช่วยหนุนเสริมในการเป็นล่ามแปลภาษา ช่วยเหลืองานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการคัดกรอง ซึ่งมีการรวมทีมและประสานงานกันเองได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับมีข้อจำกัดในแง่ของความไม่เป็นทางการ ที่ทำให้ชาวไทยหรือแม้แต่แรงงานข้ามชาติเองอาจยังไม่ค่อยเชื่อถือ
 
   “เคยมีการพูดคุยกันถึงต้นทุนที่เรามีอยู่แล้ว คือแรงงานข้ามชาติในสถานการประกอบการ หรือนักศึกษา กศน. ที่มีศักยภาพและทำงานช่วยเหลือกันเองอย่างไม่เป็นทางการ หากเราลดข้อจำกัดและสามารถดึงให้คนกลุ่มนี้ให้เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นทางการ ก็จะทำให้เขาภูมิใจและพร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่ เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการทำงานของรัฐได้” น.ส.ลัดดาวัลย์ ระบุ
 
   ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า บทบาทของพระนิสิตนอกจากการเป็นล่ามแล้ว ยังจะเป็นที่ปรึกษา (counsellor) และผู้นำทางความคิด (influencer) ให้กับแรงงานชาวเมียนมาได้ อันจะเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในการเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ และป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บนหลักการของการ ไม่แบ่งแยก แต่แบ่งปัน ไม่กีดกัน แต่เกื้อกูล
 
   “ช่วงหลังวันที่ 15 ก.พ.นี้ จะมีการจัดเวิร์คช็อป หรือ training for trainers ให้กับพระนิสิต ที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มทั้งในแง่ความรู้ ข่าวสาร และสภาพจิตใจ ให้กับชาวเมียนมา ควบคู่ไปกับการเดินหน้าผลิตสื่อต่างๆ และการดำเนินกิจกรรมอีกหลายมิติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะเข้ามาร่วมกันสร้างสังคมที่เป็นหนึ่งเดียว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเมียนมา หรือชุมชนไทย” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   สำหรับบทบาทของพระนิสิตเมียนมา จะสามารถช่วยเป็นล่ามแปลภาษาในการสอบสวนโรค การสื่อสารให้ความรู้ด้านการป้องกัน การดูแลสุขภาพ รวมถึงการลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา และช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวเมียนมาได้ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอถึงการนำวัดที่แรงงานเมียนมาชอบไปทำบุญ ในพื้นที่จำนวน 6 เขต ได้แก่ บางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ บางแค จอมทอง และหนองแขม เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือทั้งด้านการสื่อสาร การช่วยเหลือ ตลอดจนด้านจิตใจด้วย
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

พระมหาประยูร โชติวโร
พระนิสิตเมียนมา สังคมหนึ่งเดียว