ปั้นประเด็นร้อนสู่สมัชชาสุขภาพฯ 13 ‘ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต’

   สช. ชวนภาคีเครือข่ายสุขภาพ ระดมสมองพัฒนาเอกสาร “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” หวังขับเคลื่อนนโยบายแบบล่างขึ้นบน ตั้งเป้าสร้าง active citizen สู้ภัย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาเคาะเป็นร่างระเบียบวาระในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13
 
   แม้ไทยจะมีภาพจำของการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำถึงขั้นถูกยกให้เป็นครัวโลก แต่ในสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ระบาด ระบบอาหารต่างเต็มไปด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดใหม่
 
   “ความมั่นคงทางอาหาร” จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในวงของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบคำถามใหญ่ให้ได้ว่า หากเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นอีกในอนาคต ไทยจะเตรียมพร้อมเรื่องอาหารอย่างไร
 
   เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา สช. ได้จัดประชุมปรึกษาหารือการพัฒนาเอกสาร “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณา รับรองเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปลายปีนี้
 
   รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ปรึกษาอนุกรรมการวิชาการ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพูดคุยเรื่องนี้ไปแล้ว จนทำให้ทราบถึงสถานการณ์ปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต แต่เรื่องนี้จะถูกบรรจุเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของการพัฒนาข้อมูลที่ชัดเจน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันพัฒนา
 
   น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ อนุกรรมการวิชาการ เริ่มต้นทบทวนสภาพปัญหาความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมีตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นที่เกิดการกักตุนอาหารทำให้คนบางส่วนเข้าไม่ถึง ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจจากการปิดกิจการหลายแห่ง ก็ทำให้ผู้คนขาดรายได้ เกิดคนจนเมืองที่ไม่สามารถจ่ายค่าเช่าหรือซื้อหาอาหารได้ และกลายเป็นคนเร่ร่อนที่มีมากขึ้น
 
   ขณะที่ในภาคการเกษตร มีผลผลิตหลายประเภทที่ไม่สามารถส่งเข้าสู่ตลาดเดิมได้ เนื่องจากเคยส่งให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งจากภาวะปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ได้เกิดกลุ่มองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการกระจายอาหาร กระจายผลผลิต การแลกเปลี่ยนต่างๆ ฉะนั้นเรื่องของการแบ่งปันจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดขึ้นในภาวะวิกฤต
 
   “หลายประเด็นคำถามที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อผู้คนทยอยกลับบ้าน หลายหน่วยงานจึงพุ่งเป้าสนับสนุนให้คนกลับไปอยู่ในภาคการเกษตร แต่คำถามคือ ภาคการเกษตรปัจจุบันสามารถรองรับคนที่กลับเข้ามาได้หรือไม่ ภายใต้โครงสร้างที่บิดเบี้ยว ทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอน ภาวะหนี้สิน หรือการกระจายการถือครองที่ดินที่ยังมีปัญหา” น.ส.ทัศนีย์ ให้ภาพเบื้องต้น
 
   น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า จากการประชุมที่ผ่านมาได้มีการระดมข้อเสนอต่างๆ เช่น การมีหลักประกันหรือสวัสดิการด้านอาหาร มีธนาคารอาหาร มีการพัฒนาระบบตลาดสีเขียวหรือตลาดชุมชนรูปแบบที่เหมาะสม มีระบบการกระจายอาหารที่เข้าถึงได้อย่างเป็นธรรม ตลอดจนการออกแบบเมืองที่สร้างอาหารได้ เป็นต้น
 
   ขณะที่ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาร่างเอกสารเพื่อเป็นระเบียบวาระ ซึ่งจะมีโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับ “ข้อถกแถลง” มีการนิยามคำศัพท์และสถานการณ์ปัจจุบันให้เห็นร่วมกัน มีกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็น รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ที่จะต้องเป็นไปในลักษณะจากล่างขึ้นบน
 
   ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันให้ความเห็นต่อการพัฒนาข้อเสนอ ซึ่งมีเป้าหมายให้ active citizen ร่วมกันระดมมุมมองต่าง ๆ ด้านความมั่นคงทางอาหารที่อาจมีความแตกต่างกัน โดยดึงศักยภาพของแต่ละพื้นที่ออกมา ซึ่งความหลากหลายของมุมมองต่างๆ นี้จะเป็นความงดงาม ที่บอกว่าสังคมให้ความหมายกับความมั่นคงทางอาหารอย่างไร
 
   ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ อนุกรรมการวิชาการ ได้เสริมถึงแนวคิดการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งจะเปลี่ยนรูปแบบจากครั้งที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ โดยการกำหนดประเด็นหลักต่อเนื่องในปี 2563-2564 คือ พลังพลเมืองตื่นรู้...สู้วิกฤตสุขภาพ ที่ต้องการการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายให้มากขึ้น โดยให้เข้ามาร่วมในกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะตั้งแต่ต้น
 
   “ความเข้มแข็งของพลเมือง ที่เปลี่ยนจากประชาชนธรรมดาเป็น active citizen คือ ส่วนสำคัญให้การต่อสู้กับวิกฤติสุขภาพสำเร็จและได้ผลอย่างยั่งยืน สาระสำคัญจึงอยู่ที่เนื้อหาในเอกสาร ที่จะต้องมีองค์ประกอบ มีข้อถกแถลงที่ดี เป็นตัวชี้ทางให้เกิดนโยบายสาธารณะที่ทุกฝ่ายเห็นชอบได้ ฉะนั้น หากเอกสารตั้งต้นกระจายสู่ภาคีเครือข่ายได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นเครื่องมือในการถกแถลงและมีโอกาสที่จะกลับมาขัดเกลาอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปี” นพ.สมชาย ระบุ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ (เพิ่มเติม):