“สานพลัง” สู้ภัย “โควิด-19”

   การแพร่ระบาดของไวรัส COVID–19 นับเป็นความท้าทายระบบสุขภาพทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จนถึงขณะนี้ มีความพยายามจากทุกภาคส่วนอย่างถึงที่สุด เพื่อบรรเทาหรือชะลอไม่ให้สถานการณ์บานปลายไปสู่การแพร่ระบาดในระยะ 3
 
   แม้ว่าจะมีการประกาศให้ COVID–19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 เพื่อเตรียมความพร้อมและติดอาวุธในเรื่องมาตรการป้องกัน หากแต่ความหวาดวิตกของประชาชนยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะความหวาดระแวงระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
 
   นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์หัวข้อ “ไวร้าย ไวรัส COVID-19 สู้วิกฤตนี้ไปด้วยกัน” ผ่านรายการคลื่นความคิด สถานีวิทยุ อสมท. FM96.5 ว่า อยากให้ทุกฝ่ายมองมุมกลับ โดยที่ไม่ซ้ำเติมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรกล่าววาจาลักษณะที่รังเกียจเดียดฉัน ประณาม หรือเสียดสีผู้ที่มีอาการติดเชื้อ
 
   การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การแบ่งแยก และยิ่งทำให้ผู้ที่มีอาการป่วยไม่อยากแสดงตัวออกมา เพราะกลัวว่าผู้อื่นจะรู้ ถูกรังเกียจ และยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น
 
   “ไม่มีใครอยากเจ็บป่วย แต่หากติดเชื้อมาแล้วสังคมรังเกียจ หรือตั้งแง่อะไรขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ฉะนั้น การที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ช่วยเหลือกันเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   อย่างไรก็ดี ในขณะที่สังคมเปิดใจบนความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ป่วย ผู้ที่มีความเสี่ยงก็ควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวต่อว่า การปกปิดข้อมูลตนเองกับแพทย์ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งสิ้น ทั้งตัวเองที่มีความเสี่ยงและอาจเข้าถึงการรักษาที่ช้าเกินไป ทั้งคนรอบข้างที่อาจได้รับเชื้อโดยไม่รู้ตัว
 
   “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ให้ความคุ้มครองเรื่องข้อมูลสุขภาพของคนทุกคน ซึ่งไม่มีใครสามารถนำไปเปิดเผยให้ผู้อื่นรู้ได้อยู่แล้ว ดังนั้น หากใครรู้ตัวว่ากำลังไม่สบาย มีความเสี่ยง แต่กลับปกปิดข้อมูลกับแพทย์ ย่อมจะนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาดและเกิดผลเสียได้ในที่สุด” นพ.ปรีดา ระบุ
 
   ท่ามกลางความสับสนในวันที่ข้อมูลไหลบ่าจากทั่วทุกสารทิศ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรติดตามข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมากที่สุด คือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และไม่ควรส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะจะยิ่งสร้างความตื่นตระหนกและความสับสนให้กับสังคม
 
   สำหรับภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรสานพลัง คือการทำงานร่วมกับเครือข่ายและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ดังนั้น ในสถานการณ์ COVID–19 แพร่ระบาด สช.ได้เปิดพื้นที่กลางพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกับภาคีต่างๆ เพื่อสื่อสารไปยังภาคประชาชน ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ตลอดจนตั้งวงแลกเปลี่ยนว่า ในแต่ละชุมชนจะมีส่วนช่วยเหลือกันอย่างไรได้บ้าง
 
   นพ.ปรีดา เน้นย้ำว่า พลังของชุมชนจะเป็นส่วนสำคัญในการดูแลซึ่งกันและกัน โดยเริ่มจากทำในสิ่งที่ชุมชนสามารถทำได้ก่อน เช่น รวมกลุ่มกันทำหน้ากาก ไปจนถึงช่วยกันเฝ้าระวังคนในชุมชน แต่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือ พฤติกรรมเชิงลบ เช่น การซ้ำเติมกันเอง เป็นต้น
 
   “หากคนในชุมชนมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน สนับสนุนและแบ่งปันกัน ก็จะช่วยทำให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ได้” นพ.ปรีดากล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147