ตอนที่ 1 ทำไมต้องทบทวนมาตรการ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’

   ลำพังแค่ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ปกคลุมม่านฟ้า และควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา ก็ทำลายระบบทางเดินหายใจของเราจนย่ำแย่เต็มทีแล้ว
 
   ทุกวันนี้ มองไปทางไหนก็ยังต้องเจอกับการก่อสร้าง ทั้งตึกรามบ้านช่อง คอนโดสูง โครงการรถไฟฟ้า ถนนหนทาง ฯลฯ อีกมากมาย
 
   ตามตรอกซอกซอยก็ไม่เว้น เราสามารถพบไซต์งานก่อสร้างได้ในทุกที่-ทุกเวลา และทุกครั้งที่เราเดินผ่านหรือเข้าใกล้ นั่นหมายถึง “ความเสี่ยง” ต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะ “มะเร็ง”
 
   ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ? เพราะในการก่อสร้าง-การรื้อถอน มีความเป็นไปได้สูงที่วัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ฉนวนกันความร้อน ที่มีส่วนผสมของ “แร่ใยหิน” จะเกิดการฟุ้งกระจาย
 
   นั่นเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในยุคที่ ‘แร่ใยหิน’ หลบซ่อนตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าที่เราจะคาดคิด
 
   ภาพที่เราพบเห็นจนชินตาและคิดว่าไม่เกี่ยวอะไรกับเรา เช่น การรื้อถอนอาคารบ้านเรือน หลายครั้งที่เศษวัสดุจากการรื้อถอนถูกนำไปถมที่ หรือไปกองทิ้งไว้สักแห่ง เวลาเราเดินย่ำไปบนกองวัสดุเหล่านั้นจนเกิดการแตกหัก ทำให้เพิ่มการฟุ้งกระจายแล้วหายใจเข้าไปด้วย หากเมื่อฝนตกลงมา ก็จะซึมลงไปในพื้นดินและน้ำ ทำให้เกิดการปนเปื้อนดิน น้ำ อาหารในที่สุด ฯลฯ
 
   การแพร่กระจายของแร่ใยหิน จึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราทุกคน ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ เราทุกคนได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเสี่ยงจาก “แร่ใยหิน”
 
   จากผลกระทบทางสุขภาพข้างต้น ส่งผลให้เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2554 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบ และมอบหมายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสมัชชาฯ โดยกำหนดกรอบระยะเวลาเพื่อทำให้ประเทศไทยปราศจากแร่ใยหินภายใน 4 ปี
 
   ทว่า หลังมีมติ ครม. กลับยังพบปริมาณการใช้-การนำเข้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง และที่มากไปกว่านั้นก็คือ สถิติปี 2559 บ่งชี้ว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีอัตราการนำเข้าแร่ใยหินสูงที่สุดโลก
 
   สถานการณ์ดำเนินอยู่เช่นนั้นเรื่อยมา จนปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แล้ว ก็ยังพบวัสดุ-ผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนประกอบของ “แร่ใยหิน” วางจำหน่ายอยู่เช่นเดิม หนำซ้ำการนำเข้าก็ยังมีปริมาณมากเช่นเดิม
 
   อย่างไรก็ตาม หากจะบอกว่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาไม่เป็นผล ก็คงฟังดูรุนแรงเกินความจริงจนเกินไป เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปรากฏความคืบหน้าและความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ
 
   ไม่ว่าจะเป็นการประกาศยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน การออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2560 การออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ตลอดจนการผลักดันให้ภาคธุรกิจเอกชนใช้สารทดแทนแร่ใยหิน
 
   หากแต่ข้อจำกัดในการขับเคลื่อน คือความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับผลประโยชน์-เม็ดเงินมหาศาล ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขับเคลื่อนมติฯ ไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการ “แบนแร่ใยหิน” ให้หมดไปจากแผ่นดินไทย
 
   ขณะเดียวกัน ด้วยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็น “อำนาจอ่อน” (Soft Power) ภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่อำนาจแข็งที่สามารถบังคับหรือลงโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม นั่นทำให้การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ต้องอาศัยการสานพลัง และการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหา และลุกขึ้นมาแก้ไขร่วมกัน
 
   ภาพที่เกิดขึ้นกับประเด็น “แร่ใยหิน” จึงคล้ายคลึงกันกับภาพความพยายามรณรงค์แบน “สารเคมีทางการเกษตร” ที่แม้ว่าจะมีผลเสีย-ผลกระทบเชิงประจักษ์ปรากฏ และกระแสทั่วทั้งโลกต่างพากันขยับ ลด-ละ-เลิก ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยยังคงต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนอีกมาก
 
   สำหรับประเด็น “สารเคมีทางการเกษตร” ล่าสุดมีข่าวดีจากท่าทีของ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ รมว.สาธารณสุข หากเรื่องแร่ใยหินนั้น แม้ว่าปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 66 ประเทศทั่วโลก ที่ยกเลิกการใช้ไปแล้ว หากแต่ประเทศไทยกลับยังเพิกเฉย
 
   ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ การเกิดขึ้นของข้อมูล-องค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนการร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายใหม่ๆ จนเกิดเป็นความคิด กลยุทธ์-กลวิธีที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ทำให้มีการหยิบยกประเด็นแร่ใยหินขึ้นมาเป็นระเบียบวาระ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 อีกครั้ง โดยการ “ทบทวนมติฯ” ครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอ “ข้อมติ” ใหม่เพิ่มเติม ส่วนข้อมติเดิมจากปี 2553 ก็ให้ดำเนินการต่อไป
 
   นับเป็นครั้งที่ 2 ของประเด็นนี้ ที่ถูกบรรจุลงในการประชุมเพื่อจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม บนความคาดหวังสูงสุดเดียวกับเมื่อปี 2553 นั่นก็คือ “การแบนแร่ใยหิน” ให้หมดไปจากประเทศไทย
 
   “ห่วงใยว่าหากประเทศไทยยังไม่มาตรการที่มุ่งไปสู่การเลิกใช้แร่ใยหิน และไม่มีนโยบายและมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการกระจายของฝุ่นแร่ใยหินสู่สิ่งแวดล้อม จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง ที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ตอนหนึ่งในร่างเอกสารประกอบร่างข้อมติฯ ระบุ
 
   สำหรับ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม พ.ศ.2562 จะมีการพิจารณาใน 4 ร่างระเบียบวาระ ประกอบด้วย 1.ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน 2.วิถีเพศภาวะ: เสริมพลังสุขภาวะครอบครัว 3.รวมพลังชุมชนต้านมะเร็ง และ 4.การจัดการเชิงระบบสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143