ประเดิมเวทีประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ภาคประชาชนห่วงประโยชน์ทับซ้อน-ภาระค่ารักษาพยาบาล

   เปิดเวทีประชาพิจารณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพนัดแรกที่จังหวัดสงขลา ประชาชน-รัฐ-วิชาการ-เอกชน เข้าร่วมหลายร้อยคน เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ห่วงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนและการร่วมจ่าย หวั่นเพิ่มรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประชาชน
 
   วันนี้ (๑๐ มิ.ย. ๒๕๖๐) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัด เวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รายภูมิภาค เริ่มจากภาคใต้เป็นพื้นที่แรก ณ ห้องประชุมโรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่า จ.สงขลา
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่าร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัย จึงต้องการให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในร่าง พ.ร.บ.โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยมีการกำหนดจัดเวทีทั้ง ๔ ภูมิภาค ที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น และที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ และรวบรวมความเห็นนำเสนอต่อคณะกรรมการต่อไป
 
   อย่างไรก็ตามการรับฟังความคิดเห็นนั้น นอกจากมีเวทีรับฟังอย่างเป็นทางการแล้ว ยังเปิดรับความเห็นทางออนไลน์จนถึงวันที่ ๑๘ มิ.ย.นี้ รวมเวทีการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๑ มิถุนายนนี้ โดยความคิดเห็นทั้งหมดจะถูกรวบรวมและจัดทำเป็นรายงานเสนอไปยังคณะกรรมการฯ ต่อไป
 
   โดยประเด็นที่มีการอภิปราย รวมถึงประเด็นที่เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ห่วงใย จะถูกรวบรวมในรายงานการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนทั้งหมด เพื่อให้ พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการร่างนั้นสมบูรณ์ที่สุด
 
   ทั้งนี้ ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้รวมตัวออกแถลงการณ์จุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเดินออกจากห้องประชุมช่วงเวลา ๑๐.๓๐ น.
 
   สำหรับความเห็นส่วนใหญ่ ผู้เข้าร่วมเวทีแสดงความเป็นห่วงในร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ประเด็นดังต่อไปนี้ ๑.โครงสร้างของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้มีความสมดุลระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ๒.ความชัดเจนที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าบริการเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเพื่อลดภาระของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ภาคประชาชนกังวลว่าจะกระทบกับคนจน ๓.การบริหารจัดการรับและจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร ๔.การแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรหน่วยบริการ ซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าควรรวมในเงินเหมาจ่ายรายหัวหรือไม่ เพื่อให้การบริการดีขึ้น ๕.อำนาจการจัดซื้อร่วม ยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ควรอยู่ที่หน่วยงานใดระหว่าง สปสช. และ กระทรวงสาธารณสุข และ ๖.สิทธิการรักษาพยาบาลโดยใช้กองทุนหลักประกันฯของกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเวทียังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวเนื่อง อาทิ ประเด็นหลักการของกฎหมาย และการประกันสุขภาพ เป็นต้น
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143