คลอด ‘ตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ’ ชุดแรกของประเทศไทย

   “สช. – IHPP - ภาคีเครือข่าย” สานพลังสร้างตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ ชุดแรกของประเทศไทย เดินหน้าเก็บข้อมูลที่พร้อมทันที
 
   แม้ว่าลึกๆ แล้ว ทุกคนอาจจะออกแบบหรือวาดภาพ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์” ไว้ในใจ แต่ทว่านับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยกลับไม่เคยมี “ตัวชี้วัด” ในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ นั่นจึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบให้ได้ว่า ระบบสุขภาพของไทยเดินมาจากจุดไหน และกำลังจะไปที่ไหน หรือระบบสุขภาพของไทยเดินทางมาถึงตรงไหนแล้ว
 
   ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 คือ กรอบใหญ่ของการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายด้านสุขภาพของประเทศไทย ซึ่งภายใต้ธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ได้บัญญัติเนื้อหาและภาพพึงประสงค์ในแต่ละสาระหมวดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบสุขภาพไทยไว้แล้ว อีกทั้งในพระราบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ระบุหหน้าที่หนึ่งของ สช. ในการสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งสถานการณ์ของระบบสุขภาพเพื่อจัดทำเป็นรายงานหรือเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้มีการจัดทำ “ตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559” ขึ้นมา โดยใช้ธรรมนูญฯ เป็นกรอบหลัก เพื่อใช้ติดตามว่าระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของไทย ประสบผลสำเร็จหรือไม่ อย่างไร และจะพัฒนาให้บรรลุผลสำเร็จตามภาพพึงประสงค์ของธรรมนูญฯ อย่างไรบ้าง
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดทำ “ชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ” ให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม โดยได้ร่วมมือกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในการศึกษาและพัฒนาเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนกันยายน2562
 
   ร่าง ชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ นี้ ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียและมีการปรับแก้ไขมาแล้ว และล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการนำ ร่าง ชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ นี้เข้าสู่การสอบทานความสมบูรณ์จาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” หรือ Think Tank
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการกำกับทิศทางการพัฒนาและจัดทำชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ ของ สช. ในฐานะประธานการประชุมฯ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมเพื่อหารือ การพัฒนาและจัดทำชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 “การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งสุดท้าย ที่ IHPP จะนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมฯ โดยกรอบการประชุมฯ ในวันนี้คือ การร่วมกันปรับเพียงถ้อยคำบางส่วนให้ชัดเจนและสมบูรณ์ขึ้น”
 
   จากนั้น ตัวแทนคณะวิจัยจาก IHPP ได้นำเสนอถึงกระบวนการศึกษาพัฒนาชุดตัวชี้วัดระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ฯ พร้อมทั้งให้ข้อมูลว่า การพัฒนาตัวชี้วัดฯ จะต้องสะท้อนถึงผลลัพธ์ของการปฏิบัติงาน โดยคณะวิจัยฯ ได้เน้นตัวชี้วัดที่มีเจ้าภาพ มีการเก็บข้อมูล มีความพร้อม หรือมีวิธีการวัดที่ชัดเจนอยู่แล้ว
 
   สำหรับการจัดทำ คณะวิจัยฯ ได้แบ่งระดับความพร้อมในการเก็บข้อมูลโดยแบ่งเกณฑ์ด้วยสีต่างๆ ได้แก่
สีเขียว คือ ตัวชี้วัดที่มีนิยามและวิธีการวัดที่ชัดเจน มีความพร้อมของข้อมูล
สีเหลือง คือ มีนิยามชัดเจน แต่ยังไม่มีวิธีการวัด ส่วนความพร้อมของข้อมูลอาจต้องหารือกับหน่วยงานรับผิดชอบหลัก

สีแดง คือ ตัวชี้วัดที่ยังมีนิยามไม่ชัดเจน รวมถึงยังไม่มีวิธีการวัด และความพร้อมของข้อมูล

 
   ผลลัพธ์ที่ได้ คือ มีจำนวน สีเขียว 11 ชุด จำนวน 25 ตัวชี้วัด เช่น Universal Health Coverage (UHC), Health and well-being สถานะสุขภาพคนไทย สีเหลือง จำนวน 6 ชุด 6 ตัวชี้วัด เช่น สิทธิผู้ป่วยHealth Literacy และ สีแดง จำนวน 4 ชุด 5 ตัวชี้วัด เช่น ศักยภาพในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HIAP) รวมทั้งสิ้น 21 ชุด จำนวน 36 ตัวชี้วัด
 
   ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันหารือและแสดงความคิดเห็นถึงตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่จะต้องประสานไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูลนั้น ๆ เพื่อร่วมกำหนดวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน โดยเป้าหมายหลักคือ การแปลงตัวชี้วัดสีแดงไปสู่การเป็นตัวชี้วัดสีเขียว ให้สามารถดำเนินการเก็บข้อมูลต่อไปได้
 
   นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังให้โจทย์แก่ IHPP เพื่อจัดลำดับความสำคัญ “ตัวชี้วัดสีเขียว” เพื่อเข้าสู่กระบวนการเก็บข้อมูลทันที พร้อมกับการออกแบบระบบการจัดเก็บข้อมูลที่จะนำไปสู่การนำไปสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์ระบบสุขภาพของไทยต่อไป
 
   ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะเดินทางไปสู่ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์” ได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน และ “เรา” ก็คือ หนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147