ยกเครื่อง ‘บัญชีรายการ’ ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

   เมื่อ 12 ปีก่อน หรือในปี 2550 ประเทศไทยมีการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นต้นทางของประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการ “ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์” ที่กำหนดสิทธิประโยชน์รายการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 26 รายการ
 
   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ผ่านมา กองทุนสุขภาพทั้ง 3 กองทุน จะให้สิทธิประโยชน์ที่จำเป็นแก่คนพิการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับยังพบความเหลื่อมล้ำ และสิทธิประโยชน์บางรายการก็มีอุปสรรคขวางกั้นจนไม่สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
   ในฐานะตัวแทนของผู้พิการ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จึงได้เสนอให้ คณะกรรมการสุขภาพคนพิการ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นตาม ‘มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2553 เรื่อง ความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพคนพิการ’ ร่วมกันทบทวนคู่มือการดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ พร้อมทั้งให้ศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
 
   โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพคนพิการ ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน สาระสำคัญของการประชุมพุ่งตรงไปที่ “การพัฒนาและปรับปรุงบัญชีรายการบริการฟื้นฟูฯ” ให้มีความรัดกุมและมีประสิทธิภาพในการให้บริการอย่างแท้จริง
 
   โดยหลังจาก พญ.วิชนี ธงทอง ผู้แทนสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ได้การฉายภาพการดำเนินงานที่ผ่านแล้ว ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานจึงได้เสนอประเด็นการปรับปรุงบัญชีรายการฯ จาก 26 รายการ ให้เหลือเพียง 20 รายการ โดยมี 7 รายการที่ควรเพิ่มรายละเอียดลงไปให้ชัดเจนขึ้น และมี 3 รายการ ประกอบด้วย การศัลยกรรม การบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และการทันตกรรมที่ควรตัดออก เนื่องจากเป็นบริการที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนสุขภาพอยู่แล้ว พร้อมกันนี้ยังมีอีก 3 รายการที่ควรตัดออก โดยเสนอให้ไปอยู่ในการบริการที่ศูนย์บริการคนพิการแทน
 
   “จาก 26 รายการ ก็จะเหลือ 20 รายการ ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีแผนการประชุมในแต่ละรายการย่อยลงไปอีก ดังนั้นอยากให้ที่ประชุมช่วยกันพิจารณาว่า หากมีประกาศฉบับใหม่ออกมาแล้ว จะขับเคลื่อนอย่างไรเพื่อให้หน่วยบริการ-โรงพยาบาล ให้บริการจริงตามรายการเหล่านี้” พญ.วิชนี กล่าว
 
   ที่ประชุมได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายในประเด็นความเหมาะสมในการตัดรายการจาก 26 รายการ เหลือ 20 รายการ โดยส่วนหนึ่งสนับสนุนและเห็นควรตามข้อเสนอ อีกส่วนเห็นว่าแม้จะมี 26 รายการ แต่ทุกวันนี้หน่วยบริการก็ยังให้บริการไม่ครบถ้วน ดังนั้นหากตัดรายการเหล่านี้ออกไป สุดท้ายอาจทำให้ผู้พิการไม่ได้รับบริการเลย
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้มีการจัดทำข้อมูลวิชาการเพื่อสนับสนุนบริการแพทย์ทางเลือกเพื่อฟื้นฟู อาทิ บริการสวนบำบัด บริการอาชาบำบัด ศิลปะบำบัด หรือดนตรีบำบัด ตลอดจนต้องคำนึงถึงการจัดบริการของ “หน่วยร่วมบริการ” และ “ศูนย์บริการคนพิการ” ในอนาคตด้วย
 
   “ต้องดูให้ดีว่าจะตัดรายการไหน ถ้าเป็นรายการที่มีอยู่ในระบบปกติอยู่แล้วคงไม่มีปัญหา แต่รายการที่จะโยนไปให้ศูนย์บริการคนพิการทำ ถ้าเกิดตัดออกไปแล้วศูนย์บริการฯ กลับไม่มีเงินทำ ตรงนั้นจะเกิดปัญหาได้” นพ.สุวิทย์ กล่าว
 
   ทั้งนี้ ผู้แทนสถาบันสิรินธรฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงร่างประกาศกระทรวงฯ อีกครั้ง และในช่วงท้าย ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังและแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนามาตรฐานบริการฝึกทักษะการดำรงชีวิตอิสระสำหรับศูนย์บริการคนพิการ ในฐานะหน่วยร่วมบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143