เดินหน้า 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ' แก้วิกฤตสุขภาพพระสงฆ์ไทย

   วิกฤตสุขภาพพระสงฆ์ไทยนับแสนรายป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เหตุพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย อาหารไม่ถูกโภชนาการ องค์กรสุขภาพ เร่งเดินหน้าธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ ผนึกกำลังหยุดเจ็บป่วย พลิกบทบาทเป็นผู้นำสังคม สสส. จัดหลักสูตรพระพระคิลานุปัฏฐาก พระสงฆ์ต้นแบบการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ พัฒนาพระสงฆ์ผู้นำสุขภาพ-เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงในวัด
 
   เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่วัดยานนาวา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดแถลงข่าว “การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ไทย” พร้อมพิธีมอบเกียรติบัตรพระสงฆ์ต้นแบบขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก พระสงฆ์ต้นแบบการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
 
   โดย สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคมประธานฝ่ายสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพพระสงฆ์ ดำเนินการตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ตามมติมหาเถรสมาคม เรื่อง การดำเนินงานพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ให้ดำเนินการวัดส่งเสริมสุขภาพและธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมีรูปธรรมสำคัญได้แก่ วัดส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนาพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพ) สนับสนุนกลไกในระดับพื้นที่ ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางรวมจิตใจ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน ต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ในการป้องกัน ฟื้นฟู พัฒนา ให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี การมีธรรมนูญสงฆ์ เพื่อส่งเสริมดูแลพระสงฆ์ตามหลักธรรมวินัย และเป็นผู้นำด้านสุขภาวะแก่ชุมชน สังคม เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
 
   นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ ปี 2559 รวม 122,680 ราย พบพระสงฆ์เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อให้เกิดโรคคือ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ บริโภคอาหารไม่เหมาะสม การแก้ปัญหาได้ยึดหลักการทางธรรมนาทางโลกตามคาประกาศธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ส่งเสริมสุขภาวะพระสงฆ์ในทุกระดับ และส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ให้เป็นผู้นาด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคมต่อไป ซึ่งการทางานที่ผ่านมาได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และเกิดเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา เป็นแกนนาในการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์กันเอง ตลอดจนการจัดให้วัดมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงวัดกับชุมชน ทาให้พระสงฆ์แข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข
 
   นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการดำเนินงานให้พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำสังคมด้านสุขภาวะ เนื่องจากพระสงฆ์ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพหลายด้าน จากผลการสำรวจการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ โดย สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำรวจพระสงฆ์ 543 รูปจากจังหวัดต่างๆ พบพระสงฆ์ไม่เคยสูบบุหรี่ 280 รูป (ร้อยละ 51.6) เคยสูบแต่เลิกสูบแล้ว 145 รูป (ร้อยละ 26.7) และยังมีพฤติกรรมสูบบุหรี่อยู่ 118 รูป (ร้อยละ 21.7) โดยร้อยละ 56.9 มีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ เพราะขาดความรู้เกี่ยวกับโรคที่จะเกิดขึ้นจากการสูบ เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจวาย โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจจากควันบุหรี่มือสอง จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. ได้ร่วมกับกรมอนามัย เครือข่ายพระสงฆ์ พัฒนาหลักสูตรอบรมพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์โดยเข้มข้นเรื่องการสูบบุหรี่ การทำงานในเชิงป้องกัน เฝ้าระวังและ ดูแลพระสงฆ์อาพาธภายในวัด ระหว่างปี 2561-2562 มีแกนนำพระสงฆ์ที่เข้าร่วมกระบวนการฝึกอบรม 1,250 รูป
 
   “ผลการดำเนินงานพระสงฆ์สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ 147 รูป ผลักดันให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดการดูแลสุขภาพหรือวัดส่งเสริมสุขภาพ 3,000 แห่ง ใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจัดสภาพแวดล้อมของวัดให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยติดป้ายวัดปลอดบุหรี่ รณรงค์เรื่องลดการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์ และการส่งเสริมให้พื้นที่วัดดำเนินการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้พื้นที่ทั้งหมดของวัดเป็นเขตปลอดบุหรี่ ญาติโยมและพระสงฆ์แกนนำช่วยเฝ้าระวังไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในวัด ทั้งนี้ สสส. ยังได้มอบชุดความรู้โภชนาการเหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ภายใต้โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค เพื่อกระจายให้แก่ 1 วัด 1 รพ.สต. เป็นการจับคู่การทำงานระหว่างวัดกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อสุขภาวะที่ดีของพระภิกษุสงฆ์” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
 
   นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ร่วมกับ กรรมการมหาเถรสมาคม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกันสำรวจเก็บข้อมูลและลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ ซึ่งจากฐานทะเบียนข้อมูลพระสงฆ์ ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีพระสงฆ์ที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 152,283 รูป/คน ตรวจสอบสิทธิแล้วเป็นผู้ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) 126,461 รูป โดย สปสช. ได้สนับสนุน อปท./อบต/ท้องถิ่นดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในทุกมิติ ตั้งแต่ยังไม่ป่วย กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ป่วยแล้ว โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ศึกษาข้อมูลพระสงฆ์ สามเณร 400 รูป ในพื้นที่ 5 เขตสุขภาพ เพื่อหารูปแบบการเขาถึง และการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล อีกด้วย
 
   คุณสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ มีที่มาจากการขับเคลื่อน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2555 เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข” ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยยึดหลักการ “ทางธรรมนำทางโลก” กล่าวคือ พระสงฆ์เป็นผู้กำหนดแนวทาง โดยฆราวาสเป็นฝ่ายสนับสนุน ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศใช้ธรรมนูญฯ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ได้มีการตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560” มีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีภาคีเครือข่ายร่วมกันเป็นเลขานุการเพื่อสนองงานของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์และฆราวาส/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ทั้งระบบ โดยบูรณาการการทำงานให้สอดคล้องกับงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สานพลังทำงานร่วมกันเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากคณะสงฆ์และภาคีทุกภาคส่วนทั่วประเทศ เพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสุขภาวะและเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้กับพระภิกษุสงฆ์กว่าสองแสนห้าหมื่นรูปทั่วประเทศ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143