ขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพเขตเมือง

   ภาพที่ทุกคนอาจจะรู้สึกเหมือนๆ กัน ก็คือ พื้นที่เขตเมืองน่าจะมีความเจริญและความพรั่งพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะมิติทางสุขภาพแล้ว น่าจะมีความสมบูรณ์ไม่ตกหล่น
 
   อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงในเรื่อง “ระบบบริการสุขภาพ” กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากวิเคราะห์สถานการณ์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองแล้วจะพบว่า ขณะนี้ยังมีปัญหาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรมีจำกัด ระบบให้บริการไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ปรากฏข้อจำกัดด้านคุณภาพ การเข้าถึง และความเป็นธรรม
 
   ความเหลื่อมล้ำและประเด็นปัญหาต่างๆ นำไปสู่การเสนอเป็นระเบียบวาระเข้าสู่การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558 จนได้ “ฉันทมติ” ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม
 
   ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570” ซึ่งกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบให้เป็นหน่วยเลขานุการประสานการจัดทำจนแล้วเสร็จ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สมัยที่ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม
 
   เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 จึงได้มีการประชุมวางแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570 ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญเข้าร่วมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
 
   นพ.ศุภกิจ ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญของยุทธศาสตร์ฯ ก่อนจะเน้นย้ำว่า ที่ผ่านมา
มีความพยายามในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในเขตเมืองที่มีลักษณะเฉพาะมาโดยตลอด ด้วยมีรูปแบบการเติบโตของชุมชนที่อยู่อาศัยในลักษณะเป็นนิติบุคคลแนวตั้ง มีความเป็นปัจเจกชนสูง ซึ่งแตกต่างจากเขตชนบทที่ชุมชนยังคงมีความสัมพันธ์ในแนวพื้นราบ คาดหวังว่า การประชุมในวันนี้ทุกคนจะช่วยกันคิด วางแนวทาง และให้ข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรม

 
   กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอสรุปสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง พ.ศ. 2561-2570 ที่ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบบริการสุขภาพเขตเมือง 2) พัฒนากำลังคนสุขภาพเขตเมือง 3) การจัดการการเงินการคลังสุขภาพเขตเมือง 4) การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบริการสุขภาพเขตเมือง 5) การวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนระบบบริการเขตเมือง และ 6) การอภิบาลระบบบริการสุขภาพเขตเมือง
 
   ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่า จำเป็นต้องกำหนด “เป้าหมายระยะสั้น” หรือ Quick win เป็นรายยุทธศาสตร์ และเสนอให้มีการนำร่องหรือโฟกัสเรื่องบางเรื่องในแต่ละยุทธศาสตร์เพื่อเป็นการทดลองขับเคลื่อน
 
   ทั้งนี้ มีการเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ การหาเจ้าภาพในแต่ละยุทธศาสตร์ การจัดกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่เป้าหมายในการขับเคลื่อน การตั้งหน่วยงานในระดับกรมเพิ่มเติมภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำหน้าที่บูรณาการระบบการดูแลสุขภาพองค์รวมในเขตเมืองเป็นการเฉพาะ การพัฒนาศักยภาพบุคคล การลดตัวชี้วัดทางวิชาการให้น้อยลงเพื่อแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการทำเอกสารมากกว่าการปฏิบัติงานจริง
 
   นอกจากนี้ ควรตั้งต้นการทำงานจากการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้จริง เนื่องจากทุกวันนี้ มีผู้ให้บริการในพื้นที่ กทม. เป็นจำนวนมาก ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในสังกัด กทม. โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข-สังกัดสถาบันการศึกษา-สังกัดกองทัพ โรงพยาบาลและคลีนิกเอกชน ฯลฯ โดยทดลองดำเนินการในส่วนการใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) เป็นลำดับแรก ซึ่งทั้งหมดจะช่วยลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการให้บริการและมีข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ทิศทางการให้บริการได้
 
   และฐานข้อมูลที่ได้เชื่อมต่อกันแล้ว ควรนำมาสู่การวิเคราะห์ทำนายแนวโน้มสถานการณ์ระบบสุขภาพในอนาคตว่า 1) จะเกิดอะไรขึ้น 2) ความต้องการด้านสุขภาพคืออะไร และ 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเตรียมรับมืออย่างไร เพราะขณะนี้มีการทำงานกันอย่างหลากหลาย แต่ยังทำงานอยู่ในบริบทของข้อมูลชุดเดิมที่ต่างหน่วยต่างมีของตนเอง
 
   อย่างไรก็ดี มีอีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการมองทิศทางการขับเคลื่อนในมุมกลับ โดยไม่เริ่มจากการใช้ยุทธศาสตร์เป็นตัวตั้ง แต่ให้เริ่มต้นด้วยการหาปัญหา (problem statement) ของเขตเมืองเป็นลำดับแรก จากนั้นค่อยนำยุทธศาสตร์ทั้ง 6 เข้าไปจับ เพื่อแก้ไขปัญหา
 
   ท้ายที่สุด ที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมา 2 ชุด โดยแบ่งตาม Area และ Setting โดยคณะทำงานชุดที่ 1 คือ การขับเคลื่อนในพื้นที่ กทม. โดย สำนักอนามัยเป็นเจ้าภาพหลัก ส่วนชุดที่ 2 ขับเคลื่อนเขตเมืองที่นอกเหนือ กทม. โดยจะโฟกัสไปที่เทศบาลนครและเมืองพัทยา โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพหลัก ในการทำงานต่อไป.
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143