ระดมสมองขยับมติฯ ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’

   ตลอดระยะเวลา 11 ปี ที่ผ่านมา มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจาก “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ในการขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม ขณะเดียวกันก็มีหลากหลายพันธกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการอยู่มีความสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติด้วยเช่นกัน
 
   ดังนั้น หากทั้งสองฟากฝั่งหนุนเสริมซึ่งกันและกัน แน่นอนว่า ผลดี ซึ่งหมายถึง “สุขภาวะดี” ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน !!
 
   ในการประชุมปรึกษาหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ เป็นกลุ่มมติร่วมกันผ่าน
กลไกหลักที่เกี่ยวข้อง : กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ได้พูดคุยกันถึงเป้าหมายข้างต้น โดยได้ร่วมกันวิเคราะห์ความสอดคล้องเชื่อมโยงระหว่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและภารกิจตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. เพื่อการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

 
   สำหรับกลุ่มมติฯ ในครั้งนี้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ของ อปท. เพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย ซึ่งมีด้วยกัน 6 มติ ประกอบด้วย มติ 5.1 การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน มติ 9.1 น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน มติ 9.2 การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมืองเพื่อสุขภาวะ มติ 10.1 การส่งเสริมให้คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น มติ 10.2 การพัฒนาพื้นที่เล่นสร้างเสริมสุขภาวะของเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษา มติ 11.1 การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
   สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อน เป็น “กลุ่มมติฯ” เป็นการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมให้ขับเคลื่อนงานได้อย่างมีพลังมากขึ้น โดยภาระหน้าที่ของคณะทำงานขับเคลื่อนในแต่ละมติฯ จะเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงที่จะเข้าไปสนับสนุนในสิ่งที่ท้องถิ่นดำเนินการอยู่แล้วให้ทำได้ดียิ่งขึ้น
 
   “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติตลอด 11 ปี มีมติทั้งสิ้น 81 มติ ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นมติด้านการแพทย์ฯ และมติด้านสังคมฯ ซึ่งในด้านสังคมจะเกี่ยวข้องกับ อปท. ค่อนข้างมาก โดยการทำงานพบว่า ทุกมติมีความก้าวหน้าและมาบรรจบกันที่ท้องถิ่น ดังนั้น จึงเสนอให้มี “กลไกกลาง” ที่มีผู้แทนจากคณะทำงานขับเคลื่อนมติฯ ที่มีข้อมติที่เกี่ยวข้องกับ อปท. มาร่วมกันทำหน้าที่เชื่อมประสานบูรณาการงานในส่วนนี้” สุทธิพงษ์ อธิบาย
 
   จากข้อมูลรายละเอียดในแบบประเมินประสิทธิภาพของ อปท. (Local Performance Assessment: LPA) ประจำปี 2562 จัดทำโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ทำให้ทราบว่า “งานส่งเสริมคุณภาพชีวิต” เป็นสิ่งที่ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล ตลอดจนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีค่าน้ำหนักคะแนนมากที่สุด เมื่อเทียบเคียงกับงานด้านอื่นๆ
 
   จึงอาจเป็นไปได้ว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในกลุ่มมตินี้ จะได้รับความสนใจจาก อปท.
 
   จากนั้น คณะทำงานขับเคลื่อนมติฯ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงจากการทำงานในเขตพื้นที่ อปท. ระดับต่างๆ มีสรุปข้อค้นพบร่วมกันว่า (1) ท้องถิ่นมีความกังวลถึงภารงานที่อาจเพิ่มมากขึ้นจากการขับเคลื่อนมติฯ รวมถึงงบประมาณ และมองว่า การขับเคลื่อนมติฯ เป็นงานเชิงวิชาการที่จะมาทดลองทำเป็นพื้นที่ตัวอย่างนำร่อง ไม่ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น (2) หากข้อเสนอในการดำเนินงานร่วมสอดคล้องกับกิจกรรมที่ระบุในแบบประเมินประสิทธิภาพของ อปท. เป็นแรงจูงใจที่สำคัญในการเข้ามาร่วมเป็นเจ้าภาพ
 
   (3) ถึงแม้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีนโยบาย พร้อมส่งคู่มือหรือมาตรฐานการดำเนินงานมาให้ แต่ท้องถิ่นก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ด้วยไม่มีที่ปรึกษาที่จะช่วยให้คำแนะนำในการแปลงมาสู่การปฏิบัติ (4) ท้องถิ่นไม่สามารถทำงานสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องสานพลังขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะเมื่อลงไปทำงานในชุมชนแล้ว พบว่า ไม่มีภาคประชาชนที่เป็นแกนนำที่จะเข้ามาร่วมเป็น “เจ้าภาพ” ในการขับเคลื่อนงาน
 
   ข้อเสนอจากวงประชุมก็คือ “ในการพัฒนาความร่วมมือ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ค้นหาแกนนำหรือเจ้าภาพฝั่งประชาชนในพื้นที่ให้เจอก่อน แล้วค่อยเดินเข้าไปคุยกับท้องถิ่น เพราะในหลายเรื่องในหลายประเด็นท้องถิ่นอาจเคยทำไว้แล้ว แต่พับเก็บเอาไว้ ถ้าเรามีคนเข้าไปรื้อ เข้าไปคุย เขาก็จะสานงานต่อได้ อีกทั้ง ธรรมชาติของ อปท. คือ มักมองเฉพาะในเขตหรือในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น จะไม่ค่อยสนใจพื้นที่ข้างเคียงสักเท่าใด ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ยังคงต้องขับเคลื่อนมติฯ เชิงนโยบายในภาพใหญ่ควบคู่กันไปด้วย สำหรับในระดับพื้นที่ให้ใช้ศักยภาพจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดหรือ เครือข่าย 4PW เป็นหน่วยประสานการขับเคลื่อน”
 
   ในท้ายของการปรึกษาหารือ ที่ประชุมมีข้อเสนอต่อแนวทางการบูรณาการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ที่เกี่ยวข้องกับ อปท. ใน 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย (1) ทุกมติฯ สามารถเคลื่อนต่อตามแผนการดำเนินงานเดิม เพราะการพูดคุยในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะไปเสริมให้มีการหนุนกันระหว่างมติฯ (2) ท้องถิ่น คือ เป้าหมายปลายทาง ซึ่งการขับเคลื่อนมติฯ จะต้องไม่เพิ่มภาระ แต่จะไปเสริมโอกาสและสานพลังการทำงานร่วมกับ อปท. (3) ข้อเสนอแนวทางการบูรณาการที่จะยื่นต่อ อปท. ที่รวมทุกมติฯ จะต้องจัดทำให้เป็นชุดเดียวกัน มีทิศทางและจุดร่วมเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของ อปท. (4) ควรคัดเลือก “ประเด็นที่สามารถเป็นประเด็นบูรณาการร่วม” ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกกลุ่มมติฯ เพื่อทำให้ อปท. และภาคีเครือข่ายในพื้นที่เข้าใจ โดยกลไกกลางต้องหารือร่วมกัน และโฟกัสไปที่เรื่องที่เคลื่อนแล้วส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ได้ (5) ขอให้ สช. เป็นพื้นที่กลางเพื่อให้เกิดกระบวนการวางแผนต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143