‘มาตรวัดเมือง’ เครื่องมือชิ้นใหม่ป้ายแดง

   คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ สร้าง ‘มาตรวัดเมือง’ เครื่องมือสำหรับประเมินองค์ประกอบ “เมืองแห่งความสุขของทุกคน” ดีเดย์ใช้จริงในงาน Focus Group พื้นที่นำร่องเทศบาลนครนครสวรรค์ ในเดือนมิถุนายน 2562 นี้
 
   ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2559 สมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้พร้อมใจมี “ฉันทมติ” ร่วมกันในระเบียบวาระ “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ” ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสำคัญระดับสากลด้วยสอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้ทุกประเทศพัฒนาที่อยู่อาศัยให้เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ ซึ่งในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติฯ เพื่อให้เกิดรูปธรรม
 
   และความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ปัจจัยหลัก คือ ต้องมีกลไกเกาะติดการขับเคลื่อนงาน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ประสานเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายมีความที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญ จัดตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน และเมืองเพื่อสุขภาวะ ขึ้น และจากการประชุมคณะทำงานฯ ในช่วงต้น เห็นควรให้มี “พื้นที่นำร่อง” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความชัดเจนในการขับเคลื่อนมติฯ ร่วมกันของคณะทำงานฯ ซึ่งได้คัดเลือก 3 พื้นที่ที่มีความพร้อมใน 2 จังหวัด ได้แก่ เทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เทศบาลเมืองชุมแพและเทศบาลตำบลท่าพระ จ.ขอนแก่น
 
   เมื่อคณะทำงานฯ ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พบอุปสรรคประการแรกคือ ชื่อมติฯ ยาวจนยากต่อการจดจำทำให้คณะทำงานฯ ต้องกลับมาออกแบบคำเพื่อใช้ในการสื่อสาร และตกผลึกร่วมกันว่า สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนอยู่นี้คือ การสร้าง “เมืองแห่งความสุขของทุกคน” โดยความสุขนั้นหมายถึง “สุขภาวะ” ที่ครอบคลุมมิติสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา
 
   การให้หน่วยงานองค์กรภาคีกลุ่มต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับ “การพัฒนาเมือง” เข้าใจถึงการพัฒนาที่คลอบคลุมทั้ง 4 มติ เป็นไปได้ยาก คณะทำงานฯ จึงเห็นควรที่จะสร้างเครื่องมือขึ้นมาสักชิ้น เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้นำไปใช้สอบทานดูว่า การดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 4 มิติสุขภาพแล้วหรือไม่ โดยมอบหมายให้
นายเรืองยุทธ ติยะวณิช เลขานุการคณะทำงานฯ พัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า “มาตรวัดเมือง” ขึ้น ซึ่งมีด้วยกัน 4 กลุ่มความสัมพันธ์ ประกอบด้วย (1) คนกับคน (2) คนกับบริการสาธารณะ (3) คนกับเงิน และ (4) คนกับสิ่งแวดล้อม โดยภายใต้ 4 กลุ่มความสัมพันธ์นี้ จะจำแนกลงรายละเอียดเป็น 16 ข้อย่อย หรืออาจเรียกได้ว่า 16 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.บ้านอยู่สบาย-มั่นคง 2.ชุมชนอยู่สบาย 3.คนทุกกลุ่มมีชีวิตปกติสุข 4.ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 5.อาหาร อากาศ สภาพแวดล้อม ปลอดภัย 6.น้ำ ไฟ ถนน คมนาคม ดีทั่วถึง 7.สาธารณูปการทั่วถึง 8.บริการด้านสุขภาพอนามัยทั่วถึง พอเพียง มีประสิทธิภาพ 9.ทำมาหากินได้ พอเพียง ปลอดภัย/สร้างทุน

 
   10.พื้นที่ เวที กิจกรรม สาธารณะ ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณี 11.การป้องกันภัยและการช่วยเหลือ 12.มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและดำเนินการ 13.การสื่อสารสาธารณะ ความรู้ (ประวัติศาสตร์ของเมือง ภูมิปัญญาฯ) 14.สิทธิ หน้าที่ ความเป็นอิสระ 15.การยอมรับนับถือ 16.การบูรณาการ
 
   “ใครที่บอกว่า เมืองของเขาเป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคน ก็จะเอาเครื่องมือนี้ไปจับ เขาก็จะได้เห็นว่ายังมีตรงไหนบกพร่อง หรือมีตรงไหนบานออกไป ก็จะช่วยให้สามารถปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาได้อย่างตรงจุด” นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานคณะทำงานฯ ระบุ
 
   สำหรับแผนการขับเคลื่อนมติฯ ถัดจากนี้ คณะทำงานฯ จะลงพื้นที่เทศบาลนครนครสวรรค์ เพื่อทำความเข้าใจ จัดเตรียมเนื้อหา และคัดเลือกผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นี้ และจัดการประชุม Focus Group ในวันที่ 24 มิถุนายน 2562 โดยจะนำ “มาตรวัดเมือง” ไปใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ทำงานในระดับพื้นที่มองเห็นว่าอะไรที่ทำไปแล้ว อะไรที่กำลังทำอยู่ อะไรที่ควรทำ หรืออะไรที่ต้องทำ ส่วนอีก 2 พื้นที่ใน จ.ขอนแก่น อยู่ระหว่างการนัดหมายต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143