ขยับมติสมัชชาสุขภาพฯ ใช้กระบวนนำ-พื้นที่เป็นฐาน-บูรณาการขับเคลื่อน

   นัดแรกคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ ด้านสังคมและสุขภาวะ เตรียมสานพลัง ‘พชอ.’ ลุยงานระดับพื้นที่ 50 อำเภอนำร่อง เปิดเวที Kick off เชื่อมโยงกลไกและประเด็น ชาติ-เขต-จังหวัด-พื้นที่ วันที่ 26-27 มิ.ย.นี้ หวังขยับ 5 ประเด็นสำคัญ ผู้สูงอายุ ขยะ อุบัติเหตุ เกษตรปลอดสาร NCDs
 
   มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 81 มติ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมไม้ร่วมมือของภาคีเครือข่ายอย่างแข็งขันตลอด 11 ปีเต็ม นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ถือเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่งของการพัฒนาแลขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม
 
   เราจึงต้องจับมือกันเดินต่อ เพื่อทำให้มติฯ เหล่านั้นมีผลในทางปฏิบัติ
 
   นั่นทำให้ที่ประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ซึ่งมี ดร.วณี ปิ่นประทีป เป็นประธาน เนืองแน่นไปด้วยตัวแทนจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือ “สร้างสังคมสุขภาวะ” ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าอย่างน้อย 3 ประเด็นสำคัญ โดยความก้าวหน้าแรก คือ การขับเคลื่อนมติฯ ไปสู่การปฏิบัติระดับในพื้นที่ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับต่างๆ ซึ่งในวันที่ 26-27 มิถุนายนนี้ จะมีการจัดประชุม Kick off “สานพลังการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเชื่อมโยงกลไกและประเด็น ชาติ-เขต-จังหวัด-พื้นที่” ขึ้น
 
   การ Kick off ดังกล่าว เป็นผลมาจากการ Mapping มติฯ เข้ากับพื้นที่และประเด็นที่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในแต่ละพื้นที่ให้ความสำคัญ เพื่อเลือก “พื้นที่นำร่อง 50 พื้นที่” ในการขับเคลื่อน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ผู้สูงอายุ 2.ขยะและสิ่งแวดล้อม 3.อุบัติเหตุ 4.อาหารและเกษตรปลอดสารเคมี และ 5.โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
 
   เดิมทีหลักการเบื้องต้นในการขับเคลื่อนฯ คือ “ใช้ประเด็นนำ พื้นที่เป็นฐาน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม” โดยพุ่งเป้าไปที่มติฯ ที่ถูกจัดลำดับความสำคัญให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องการเห็นผลสำเร็จรูปธรรมระยะสั้น (Quick win) ใน 1 ปี และกลุ่มที่มีความท้าทาย (Challenge)
 
   อย่างไรก็ตาม หลังจากการถกแถลงกันอย่างรอบด้านแล้ว การขับเคลื่อนจะใช้หลักการเบื้องต้น คือ “ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมนำ โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปบูรณาการขับเคลื่อน” โดยเน้นหนักไปที่ “กระบวนการ” มากกว่า “ประเด็น” เพื่อค้นหาว่า อะไรคือกระบวนการสานพลังที่เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สานพลังการขับเคลื่อนระดับนโยบายไปสู่กลไกระดับจังหวัด และสนับสนุนให้หน่วยงานสำคัญ อาทิ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นแม่งานของ พชอ. และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบงานที่เกี่ยวกับสุขภาพ-คุณภาพชีวิต ขานรับ และช่วยขยับ 50 พื้นที่นำร่องนี้
 
   อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวที Kick off มีเพื่อรับฟังแนวคิดแต่ไม่ใช่สั่งการ และพื้นที่ย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าอยากทำเรื่องใด ทำอย่างไร ฉะนั้นหากที่สุดแล้วมีไม่ถึง 50 พื้นที่ก็ไม่เป็นไร เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือความพร้อมและความต้องการของผู้ปฏิบัติงานจริงในระดับพื้นที่
 
   ความก้าวหน้าลำดับต่อมา คือ แนวทางการขับเคลื่อนมติฯ เป็นกลุ่มร่วมกัน โดยที่ประชุมได้หารือถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) ซึ่งมีด้วยกัน 6 มติฯ ซึ่ง ทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่นำ 6 มติฯ มาหารือก่อน เพราะเป็นมติฯ ที่มีความเป็นไปได้ในการผลักดันสู่การออกระเบียบ หรือข้อบัญญัติท้องถิ่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเวลาขับเคลื่อนเรื่องที่เกี่ยวกับ อปท. จะจำกัดอยู่เพียงแค่ 6 มติฯ เท่านั้น
 
   สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนกลุ่มมติฯ นี้ ตัวแทนจาก สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า แต่ละมติฯ เป็นสิ่งที่ อปท. ต้องการดำเนินการ แต่กฎหมายกลับไม่ให้อำนาจหน้าที่เอาไว้ โดยที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า “จุดคานงัด” ที่สำคัญ คือ ท้องถิ่นและพื้นที่พร้อมจัดการตัวเอง แต่มีอุปสรรคทั้งกฎระเบียบและระยะเวลา ดังนั้นท้องถิ่นต้องวิเคราะห์และสร้างกลไกให้ได้ว่า อะไรคือปมต้อง “คลาย” เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างแท้จริง
 
   ความก้าวหน้าที่สำคัญประเด็นสุดท้าย คือ “การออกแบบการนำเสนอ” การขับเคลื่อนมติฯ ที่ต้องรายงานในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอต่างๆ อาทิ ควรใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการรายงานและลดระยะเวลาในเรื่องพิธีกรรมลง การคัดเลือกเฉพาะประเด็นก้าวหน้ามากๆ ส่วนประเด็นอื่นๆ ให้ใช้สื่อผสมช่วย เช่น คลิป เอกสาร นิทรรศการ หรือการใช้ “TED-TALK” เป็นเครื่องมือใหม่ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบและจะศึกษาเพื่อปรับปรุงการทำงานต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143