ขึ้นรูป ร่างระเบียบวาระ ลุ้น คจ.สช.เคาะ ‘ทบทวนแร่ใยหิน”

   ที่ประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการ นัดที่ 3 เตรียมเสนอ คจ.สช. พิจารณา “ทบทวนมติสังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และเห็นพ้องเดินหน้า “มลภาวะ- PM 2.5” และ “สุขภาพสตรีและครอบครัว”
 
   สาระสำคัญจากวง ประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการ ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้พอเห็นทิศทางและความน่าจะเป็นของ “ร่างระเบียบวาระ” ที่จะเสนอให้คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พิจารณา เพื่อประกาศในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 พ.ศ. 2562 คือ การทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน พร้อมพัฒนาอีก 2 ประเด็น คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 และสุขภาพสตรีและครอบครัว
 
   ระยะเวลา 3 ชั่วโมงเต็มของการประชุมคณะอนุกรรมการวิชาการ ซึ่งมี รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน ให้น้ำหนักกับการแลกเปลี่ยนและเปิดพื้นที่ให้อนุกรรมการวิชาการ และผู้เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็น เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในหัวข้อหลัก (Theme) ของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12
 
   ต่อด้วยการหารือเรื่องการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งตั้งแต่มีมติฯ ในเรื่องนี้ในปี 2553 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือการ “แบนแร่ใยหิน” ได้
 
   “เราจะต้องทำให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2553 จนถึงขณะนี้เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง และคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ใช้วิธีการใดบ้างจึงทำให้ประเทศไทยยังไม่สามารถแบนแร่ใยหินได้” รศ.จิราพร ระบุ
 
   ศ.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล อนุกรรมการ ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดกระบวนการพัฒนาร่างเอกสารร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอแนวทางพัฒนาข้อเสนอเพื่อทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินใน 7 ประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางกฎหมาย การสนับสนุนสารทดแทน การประสัมพันธ์ การเฝ้าระวัง กลไกราคาสารทดแทน มิตินานาชาติ และมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
 
   ขณะที่ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ฉายภาพความอันตรายของแร่ใยหิน ตลอดจนสถานการณ์โลก โดยระบุว่า แร่ใยหินเป็นบ่อเกิดให้เกิดโรคที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตและยังไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้ามาตลอด 30 ปี ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
 
   “แนวทางการป้องกันที่ดีที่สุดเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งก็คือการยกเลิกการใช้ เพราะทุกวันนี้มีสารทดแทนแล้ว แต่แม้ว่าประเทศไทยจะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วกลับยังพบอุปสรรคที่ทำให้ยังไปไม่ถึงการยกเลิก เช่น บทบาทของกระทรวงต่างๆ ที่แยกส่วนกัน ข้ออ้างถึงความจำเป็นในการใช้งาน กลไกราคา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” อาจารย์สมเกียรติ ระบุ
 
   ที่ประชุมยังได้นำเสนอความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางและมีหลายข้อที่น่าสนใจ เช่น การทำข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินควรมีความเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐ-องค์กรใหญ่ จะต้องแตกต่างกับข้อเสนอต่อประชาชน-ผู้บริโภค หรือควรโฟกัสการขับเคลื่อนไปที่ “HOW” คือจะทำอย่างไรให้สำเร็จ มากกว่าการเน้นไปที่ “ความรู้” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากแล้ว
 
   นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอการออกแบบวิธีการทบทวนมติที่เพิ่มเติมการผลักดันงานรณรงค์ อาทิ พูดคุยกับ รมว.สาธารณสุข คนใหม่ หรือแม้แต่การตีโอบจากภาคเอกชน เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาอย่างกลมเกลียวและเข้มแข็ง รวมถึงข้อเสนอให้มีการทบทวนมติสมัชชาสุขภาพฯ ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อหาที่เขียนไว้ในมติเดิมแทบจะใช้ไม่ได้ในปัจจุบันนั้น ควรต้องทำใหม่และคิดให้หลุดออกไปจากกรอบเดิม โดยถอดรื้อวิธีคิดเดิมออกมาที่ไม่ใช่เดินตามของเก่า แต่ยังจำเป็นต้องเกาะเกี่ยวหรือยึดตาม มติ ครม.ไว้
 
   ที่สุดแล้ว ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าจะนำเสนอร่างระเบียบวาระ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพฯ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” เข้าสู่การพิจารณาของ คจ.สช. ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้
 
   จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาผลการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาประเด็นนโยบายสาธารณะฯ ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2556 และกลั่นกรองประเด็นนโยบายฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมลภาวะ 2.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ปลอดภัยและการสร้างเสริมศักยภาพชุมชน 3.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ และ 4.ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของกลุ่มเฉพาะ
 
   ที่ประชุมได้หารือกันอย่างละเอียดทีละกลุ่มประเด็น ซึ่งที่มีความน่าจะเป็นและมีแนวโน้มที่จะเสนอเป็นร่างระเบียบวาระได้คือ “มลพิษทางอากาศ” โดยเฉพาะ “PM 2.5” และ ประเด็น สุขภาพสตรีและครอบครัว โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมในการกำหนดขอบเขตในแต่ละประเด็นเพื่อพัฒนาเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143