ชงเข้ม! มาตรการ ‘แบน’ แร่ใยหิน

   มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ซึ่งเคยเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในปี 2553 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือเพื่อทำการ “ทบทวน” อีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลงไป และผลการศึกษาทางวิชาการมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
 
   เป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 3.1 มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน คือการ “แบน” ให้พ้นไปจากประเทศไทย เช่นเดียวกับที่กว่า 60 ประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการ เนื่องจากเห็นตรงกันว่า “แร่ใยหิน” มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะฝุ่นผงที่คลุ้งกระจายและส่งผลกระทบโดยตรงต่อปอด และก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
 
   แม้ว่าในปี 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติให้แบนแร่ใยหิน หากแต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สำเร็จ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมปรึกษาหารือการทบทวนมติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าจำเป็นต้อง “ทบทวน” มตินี้อีกครั้ง ซึ่งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 10 องค์กร จะลงนามให้การรับรองเพื่อเสนอเป็นระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562
 
   อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินถูกจัดลำดับความสำคัญให้อยู่ในกลุ่มมติที่ควรจะ “ทบทวน” เนื่องจากข้อเสนอในมติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นไปเพื่อปรึกษาหารือว่าสมควรจะมีการทบทวนมติหรือไม่
 
   “หากมีการเสนอให้ทบทวน นั่นหมายความว่าต้องมีการยกร่างเอกสารข้อเสนอขึ้นมาใหม่ โดยกระบวนการดำเนินงานจะเป็นไปตามขั้นตอนของอนุกรรมการวิชาการ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาต” อรพรรณ ระบุ
 
   หลังการนั้น ดร.นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เล่าความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนมติตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ผ่านมา รวมถึงการฉายภาพสถานการณ์แร่ใยหินระดับนานาชาติ
 
   “ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตจากแร่ใยหินเฉลี่ยปีละ 3 แสนราย โดยปัจจุบันมี 66 ประเทศที่มีกฎหมายยกเลิกการใช้แล้ว ขณะที่อีก 129 ประเทศ แม้จะยังไม่มีกฎหมายยกเลิก แต่ 80% ของประเทศเหล่านั้นแทบจะไม่มีการใช้หรือใช้น้อยมาก สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากแร่ใยหินมาโดยตลอด โดยในปี 2561 พบทั้งสิ้นถึง 36 ราย”
 
   จากนั้น ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายถึงข้อเสนอเพื่อ “ปรับยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ให้เข้มข้นกว่ายุทธศาสตร์เดิมซึ่งอยู่ภายใต้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 3.1 อาทิ การเน้นกฎหมายห้ามนำเข้า การเพิ่มช่องทางการฟ้องร้องของผู้เสียหายต่อผู้ผลิต-นำเข้า-ขายแร่ใยหิน ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่รูปธรรมของการไม่ใช้แร่ใยหินในหน่วยราชการ โดยเริ่มจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการสื่อสารที่เข้มแข็ง และการกำหนดมาตรการสนับสนุนวัสดุทดแทนแร่ใยหิน
 
   ในช่วงท้าย ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานทบทวนมติมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และมอบหมายให้ ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ เป็นผู้ยกร่างเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะอนุกรรมการวิชาการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12 ต่อไป
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143