ร่างแผนปฏิบัติการสกัด ‘เชื้อดื้อยา’ เดินหน้ายุทธศาสตร์ตามมติสมัชชาฯ

   การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ซึ่งมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน ได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามมติ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ มติ ๕ เรื่อง “วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ”
 
   โดย ดร.นิธิมา สุ่มประดิษฐ์ เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้นำเสนอระบุว่า ขณะนี้ “ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๔” ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างความตระหนักให้กับทุกภาคส่วนในสังคม มาร่วมมือกัน แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
 
   ยุทธศาสตร์สำคัญมี ๖ ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิด สุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศไทย ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาล และควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การป้องกันและควบคุมกำกับดูแล การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และ ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้ง ๕ ด้าน
 
   “กระบวนการหลังจากนี้ จะมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดทำ แผนปฏิบัติการรองรับยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๔ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ อีกครั้ง เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ นำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรม”
 
   นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ประเด็นการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย ใช้หลักการ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ผลักดันโดย ๓ ภาคส่วน ประกอบด้วย ในส่วนของ ภาครัฐ มีกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายครั้ง กระทั่งยกร่างออกมาเป็นยุทธศาสตร์ฯ และขณะนี้มีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การจัดทำร่างแผนปฏิบัติการ
 
   ส่วน ภาควิชาการ ได้มีการขับเคลื่อนในหลายระดับ สอดคล้องกับแนวทางของ สมัชชาอนามัยโลก ที่ส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีแผนยุทธศาสตร์ฯ ภายใน ๒ ปี หรือปี ๒๕๖๐ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยถือว่าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รวมถึงใช้กลไก The Country Cooperation Strategy (CCS) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยสนับสนุนให้ ภาคประชาสังคม มาหารือและทำงานร่วมกัน ผ่านกระบวนการ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ จนเกิดมติดังกล่าวขึ้น
 
   สุดท้ายคือ ภาคการเมือง มาร่วมสนับสนุนด้านนโยบาย งบประมาณ และบุคลากร ไปสู่การดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมายุทธศาสตร์ฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เรียบร้อยแล้ว “เมื่อทุกฝ่ายเห็นความสำคัญร่วมกัน สามารถเดินหน้าทำงานตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในเชิงพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้แผนปฏิบัติการเสร็จก่อน” นพ.ศุภกิจระบุ
 
   ด้าน รองเลขาธิการ สช. พัชรา อุบลสวัสดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ ๑๔-๒๐ พฤศจิกายนนี้ จะมีการจัดกิจกรรมสำคัญ คือ สัปดาห์รณรงค์ “รู้รักษ์ ตระหนักใช้ ยาต้านแบคทีเรีย” เพื่อเป็นการรณรงค์ต่อสาธารณะครั้งใหญ่ และสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งหากแผนปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์แล้วเสร็จ ก็สามารถนำมาใช้สื่อสารในงานดังกล่าวได้อีกด้วย
 
   นอกจากนั้น ยังสามารถรายงานความก้าวหน้าของมติ “วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” ในเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ ที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยในส่วนของระเบียบวาระปีนี้นั้น คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ (คจ.สช.) ได้มีการประกาศระเบียบวาระเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙ โดยมี ๓ ประเด็น ประกอบด้วย ๑. การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมืองเพื่อ สุขภาวะ ๒. น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน และ ๓. การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยด้วยการบูรณาการอย่างมีสวนร่วม
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143