25 มี.ค. กรรมการสุขภาพแห่งชาติเคาะ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับใหม่

   กรรมการทบทวนธรรมนูญฯพร้อมเสนอ ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 25 มีนาคมนี้ เร่งเคาะเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาต่อไป พร้อมเร่งสื่อสารสาธารณะและสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมเต็มรูปแบบ มั่นใจพลิกโฉมระบบการดูแลระบบสุขภาพคนไทย
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมอย่างรอบด้านตลอดปีที่ผ่านมา ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 และพร้อมจะนำเสนอที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอความเห็นชอบในวันที่ 25 มีนาคมนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบ ก่อนบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่กำหนดว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว จะมีผลผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ของตน
 
   “คณะกรรมการทบทวนธรรมนูญฯ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งจากภาครัฐ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาสังคม/ภาคเอกชน ได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆ กันอย่างรอบด้าน แม้บางประเด็นจะมีความเห็นแตกต่างกันบ้าง แต่ก็พิจารณาโดยยึดประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการใช้ธรรมนูญฯ ไปเป็นกรอบในการพัฒนาระบบสุขภาพ จึงไม่มีความขัดแย้งบนความเห็นต่างนี้ และสามารถหาข้อสรุปตรงกันได้ จนขณะนี้ได้ร่างธรรมนูญฯ ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว”
 
   ร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ ได้เพิ่มเติมเนื้อหาจากเดิมที่มี ๑๒ หมวด เป็น ๑๗ หมวด ได้แก่ หมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา การอภิบาลระบบสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ พร้อมปรับปรุงเนื้อหาสาระให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป็นเครื่องมือฉายภาพอนาคตของระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้า
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา ได้ย้ำเตือนถึงการสื่อความหมายของคำสำคัญที่ใช้ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน เช่น คำว่า “สุขภาพ” มีความหมายที่เชื่อมโยงกันทั้งสุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคม “สิทธิด้านสุขภาพ” หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลพึงได้รับโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าในกรณีใดๆ หรือ “การอภิบาลระบบสุขภาพ” ที่เป็นการดูแลและบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยการมีปฏิสัมพันธ์กันของภาครัฐ องค์กรสาธารณะต่างๆ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และสร้างสรรค์โอกาสใหม่ๆ เพื่อให้เกิดสุขภาพ
 
   ทั้งนี้ กรรมการได้ให้ความสำคัญกับประเด็นในหมวดต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยมี “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคผู้บริโภค” ซึ่งมีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่ให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำนโยบาย กฎหมาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสร้างความเข้มแข็งเท่าทันแก่องค์กรผู้บริโภค รวมถึงหนุนเสริม ตรวจสอบ หรือถ่วงดุลการทำหน้าที่ของกลไกรัฐอย่างสร้างสรรค์ ทำงานควบคู่กับ “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาครัฐ” ที่มีการบริหารจัดการแบบองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบและกลไกที่มีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วนทำหน้าที่กำกับดูแล ทั้งในส่วนคุณภาพมาตรฐานบริการ ควบคู่ไปกับดูแลค่าบริการให้มีความเหมาะสมด้วย
 
   “หากร่างธรรมนูญฯ ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแล้ว ฝ่ายเลขานุการจะเร่งเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งคงจะมีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนนี้ที่ผ่านมามีหน่วยงานราชการกว่า 70 หน่วยที่ให้ความสนใจและร่วมให้ความเห็นต่อร่างฯ ธรรมนูญในขั้นตอนการรับฟังความเห็น โดยคณะกรรมการฯ หวังว่า ธรรมนูญฯ ฉบับนี้จะสามารถประกาศใช้ได้ทันกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งภาพอนาคตต่างๆ ที่ปรากฏในร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ จะพลิกโฉมการจัดการระบบสุขภาพภายใต้หลักการสำคัญที่สอดคล้องกับนโยบายประชารัฐ ซึ่งให้ความสำคัญกับกลไกการพัฒนาประเทศโดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143