สลายปัญหาหมอกควัน ตั้งกลไกสนับสนุน-ปรับปรุงกฎระเบียบ

    เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมปรึกษาหารือ แนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ มติที่ ๒ “ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” ณ ห้องประชุมสานใจ ๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   การประชุมได้รับความความมือ จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม กว่า ๓๐ คน อาทิ กรมป่าไม้ กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิธนาคารต้นไม้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) เป็นต้น
 
   ความตื่นตัวของทุกฝ่ายในประเด็นนี้สูงมาก เนื่องจากสถานการณ์หมอกควันล่าสุด ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือและอยู่ในภาวะภัยแล้ง
 
   “ปัญหาหมอกควันมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งสาเหตุของปัญหามีความสลับซับซ้อน การแก้ไขจึงต้องประสาน บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้เกิดเป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง” อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานในที่ประชุมระบุ โดยการหารือครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขว้างและเป็นประโยชน์
 
   อ.เดโช ไชยทัพ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) เล่าว่า ขณะนี้ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ มีแผนการจัดการปัญหาหมอกควัน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมและฉันทมติของทุกฝ่าย ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเชิงกระบวนการ ให้พื้นที่ต่าง ๆ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทของปัญหา โดยมีนโยบายจากส่วนกลางเข้าไปช่วยเติมเต็มให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น
 
   ด้านตัวแทนจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุถึงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่าง กรอบการแก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนร่วมกับ ๑๐ ประเทศอาเซียน โดยแบ่งกรอบพื้นที่เป็นภาคเหนือและภาคใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้ทุกภาคส่วนให้ข้อคิดเพิ่มเติมในเดือนมี.ค.นี้
 
   ผู้แทนจาก มูลนิธิธนาคารต้นไม้ เสนอแนะทิศทางแก้ปัญหา คือ ปรับเปลี่ยนการทำเกษตร จากระบบ “เกษตรเชิงเดี่ยว” เป็นระบบ “วนเกษตรผสมผสาน” เพื่อลดการเผาผลผลิตเกษตรที่เหลือใช้
 
   พร้อมกับออกแบบระบบ แก้ไข ปัญหาระยะยาว มุ่งแนวคิดเรื่อง “การปลูกป่า” สร้างธนาคารต้นไม้ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชน และรัฐต้องสร้างแรงจูงใจ แก้ไขกฎระเบียบ สร้างมูลค่าให้กับต้นไม้ที่ปลูก อาจนำร่องปฏิบัติในพื้นที่ใด พื้นที่หนึ่งก่อน เพื่อเป็นตัวอย่าง
 
   ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ควรสนับสนุนแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ใน ๒ ประเด็นหลัก คือ ๑.เร่งจัดตั้งกลไกร่วม ๒ ระดับ แบ่งเป็น กลไกสนับสนุน โดยมี “คณะกรรมการประสานความร่วมมือสนับสนุนการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างยั่งยืน” และกลไกการขับเคลื่อนระดับจังหวัด โดยมี “คณะทำงานขับเคลื่อนพลังชุมชนแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าระดับจังหวัด”
 
   “เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า ระหว่างรอการพิจารณาของ ครม. ควร จัดตั้ง คณะทำงานจัดทำ แผนระดับจังหวัด ที่มีความพร้อม โดยกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงาน ข้อเสนอการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม และจัดทำพื้นที่นำร่อง พร้อมตั้งแต่งคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนมติฯ ไปพลางๆก่อน” อ.ไพสิฐกล่าว
 
   แนวทางที่ ๒. คือ เร่งประสานหน่วยงาน/ สร้างเงื่อนไข นโยบาย-กฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออก ข้อบัญญัติ ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.) มีอำนาจจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143