คจ.สช.คลอด 4 ประเด็น เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8

   เตรียมตัว เตรียมใจ...ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับการประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
 
   ปีนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ (คจ.สช.) กำหนดแนวคิดหลัก (Theme) “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” โดยคาดว่าบรรยากาศจะคึกคัก ยิ่งกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เข้าร่วมจำนวนมาก
 
   โดยเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา มีการประชุม คจ.สช. ครั้งที่ ๕/๒๕๕๘ มี อ.เจษฎา มิ่งสมร เป็นประธาน ณ ห้องประชุมสานใจ ๑/๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆได้รายงานความพร้อมในทุกด้าน
 
   ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการจัดกลุ่มเครือข่ายฯ รายงานความสำเร็จของการจัดเวที “รวมพลังภาคีเครือข่าย สู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘” เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่าเป็นเวทีที่จัดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจภาพรวมของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และบทบาทหน้าที่ของกลุ่มเครือข่าย รวมทั้งเพื่อทบทวนรายชื่อและองค์ประกอบของกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา ศาสนา แรงงาน เยาวชน ศิลปิน ฯลฯ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๓๐๕ คนซึ่งผลการจัดจะสะท้อนถึงความร่วมมือขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปีนี้ได้
 
   “ ปีนี้ได้เชิญภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมทั้งหมด เสนอว่าใครมีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะดีๆมานำเสนอในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก็จะเปิดโอกาสให้ หรือยังมีเวทีอื่นๆ ที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะได้อีกหรือไม่ จะเป็นการเปิดตัวถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งมาก ” อ.สุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ประธานอนุกรรมการประสานการพัฒนานโยบายสาธารณะกับพื้นที่และภาคียุทธศาสตร์ กล่าวเสริม
 
   ด้าน ดร.วณี ปิ่นประทีป ประธานอนุกรรมการประเมินผล ชี้แจงว่า ในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสดี ที่จะมีการพัฒนามติต่างๆ ซึ่งได้เห็นชอบไปแล้ว จำนวน ๖๔ มติให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
“ปัจจุบันกระบวนการสมัชชา ได้ขยายผลออกสู่พื้นที่ในต่างจังหวัด เห็นได้จากรูปแบบการทำงานของ สมัชชาสุขภาพจังหวัด หรือเวทีการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ ชุมชน ที่เพิ่มขึ้น เท่ากับว่าเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มีความก้าวหน้า”
 
   อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ ผู้ประเมินโครงการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่า จากกระแสการปฏิรูปประเทศ ในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงเปิดโอกาสให้ภาคีเครือข่าย ได้ใช้เป็นช่องทาง ผลักดันนโยบายสาธารณะ ซึ่งคนที่ทำงานด้านปฏิรูปส่วนมาก ก็เป็นภาคีเครือข่ายชุดเดียวกัน ดังนั้น การคาดหวังที่เราจะเห็นเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นพื้นที่หลักเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็อาจลดน้อยลงไปบ้าง
 
    จากนั้น รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ในฐานะเลขานุการอนุกรรมการวิชาการ ได้ชี้แจงถึง การกำหนดประเด็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ตามกำหนดวันที่ ๒๒ กันยายนนี้
 
   โดยหลังจากที่ คจ.สช. ได้เริ่มเปิดรับ ประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากทุกภาคส่วนแล้ว ทาง คณะอนุกรรมการวิชาการ ที่มี นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร เป็นประธาน ได้มีการกลั่นกรองประเด็นตาม หลักเกณฑ์การกลั่นกรอง คัดเลือกประเด็นเชิงนโยบายเสนอเป็นระเบียบวาระ (QHPP1) ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่ามี ๗ ประเด็นที่เข้าข่ายนำมาพิจารณา ประกอบด้วย
 
   ๑.วิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๒. สุขภาวะชาวนา ๓. การพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม ๔. การป้องกันการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กและเยาวชน ๕. การสร้างสังคมสุขภาวะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ๖. การป้องกันและแก้ไขปัญหาตาบอดและสายตาพิการแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และ ๗.การจัดการด้านวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
 
   “ คณะอนุกรรมการวิชาการ ได้พิจารณาความพร้อมในเชิงกระบวนการ ของการพัฒนาประเด็น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง และการมีองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเด็นต่อไปแล้ว เห็นว่า ข้อเสนอเชิงประเด็นที่มีความพร้อม ได้แก่ ๑. วิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๒. สุขภาวะชาวนา และ ๓. การพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม ”
 
   ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการวิชาการ ได้รับประเด็นเชิงนโยบายที่ มีการเสนอเพิ่มเติม เข้ามาอีก ๒ เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบอาสาสมัครระดับชาติ และนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
 
   อนุกรรมการวิชาการ ได้ใช้หลักเกณฑ์ QHPP1 พิจารณาเช่นกัน มีผลสรุปว่า ประเด็น นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน มีความเหมาะสมและมีความพร้อม จึงเสนอให้ คจ.สช.อนุมัติ เป็นระเบียบวาระเช่นเดียวกัน
 
   รองเลขา คสช. กล่าวอีกว่า สุดท้ายคือ ประเด็นเชิงนโยบาย ที่เสนอทบทวน (Revisit) ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ได้เสนอมาล่าสุด จำนวน ๒ ประเด็น คือ การทบทวนมติ มาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และ การทบทวนมติ การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ “ถ้าทั้งสองประเด็นที่ คมส. เสนอมาให้มีการ Revisit มีความพร้อม ก็จะนำเสนอต่อ คจ.สช. เพื่อพิจารณา ความเหมาะสม และวิธีการ หรือช่องทางในการประกาศร่างระเบียบวาระการประชุม เพิ่มเติมต่อไปอีกครั้งหนึ่ง”
 
    สรุปได้ว่า ขณะนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดเป็น (ร่าง) ระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ เบื้องต้น จำนวน ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑. วิกฤตการณ์เชื้อดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๒. สุขภาวะชาวนา และ ๓. การพัฒนาระบบสุขภาพเขตเมืองอย่างมีส่วนร่วม และ ๔.นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
 
   ทั้งนี้ ทาง คจ.สช. เห็นชอบ ที่จะจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งใหญ่ ของทั้ง ๔ ประเด็นดังกล่าว โดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้นำเสนอนโยบาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแต่ละประเด็น ช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้
 
   อ่านประกาศ ระเบียบวาระการประชุม
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9144