HIA ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2250 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในกฎหมายไม่กี่ฉบับในประเทศไทยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างมากที่สุด และเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทั้ง เรื่องสิทธิ หน้าที่และความมั่นคงด้านสุขภาพ กระบวนการมีส่วนร่วม และกลไกการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ซึ่งว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการร้องขอให้มีและเข้าร่วมกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิ ที่ มาตรา 11 กำหนดให้บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมิน มีสิทธิร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ บุคคลหรือคณะบุคคลมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว มาตรา 5 มีสิทธิในการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มาตรา 10 มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลแผนงาน โครงการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และ มาตรา 25(5) ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ รวมถึง มาตรา 46 - 48 การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกี่ยวพันกับการใช้สิทธิตาม ม.11

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ ต้องการให้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาถึงผลกระทบทางสุขภาพ ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการพัฒนา หรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหวังผลเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุด สำหรับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพของทุกคนในสังคม นั่นก็หมายความว่า การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจะเป็นทั้งกระบวนการและเครื่องมือทางสังคมที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยกระบวนการที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างการบริหารสถาบันอย่างเป็นทางการ หากแต่เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายยอมรับและนำไปปฏิบัติ เพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ การพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพใน พรบ.สุขภาพ พ.ศ.2550 จะมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน