HIA ในสถาบันการศึกษา

บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพเริ่มขึ้นเมื่อสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้จัดตั้งแผนงานวิจัยและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (แผนงาน HPP-HIA) โดยในปี พ.ศ. 2545 แผนงานฯ ดังกล่าวได้ขยายเครือข่ายการดำเนินงานมายังระดับภูมิภาค โดยมีเครือข่ายภูมิภาคในภาคเหนืออยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคกลางที่ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้วยบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาที่พึงมีต่อสังคมในด้านวิชาการ ซึ่งได้แก่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และการบริการวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาจึงเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในสังคมไทยที่บทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนากรอบการวิเคราะห์ที่เหมาะสม และการพัฒนาบุคคลที่มีศักยภาพเพียงพอ ในการขับเคลื่อนผลักดันกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ

สถาบันอุดมศึกษาทุกสถาบันที่เป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนา HIA ในระยะเริ่มแรกได้ดำเนินการในด้านการพัฒนากรอบวิเคราะห์ที่เหมาะสม ด้วยการประสานงานกับภาคีเครือข่ายที่ดำเนินงานเกี่ยวเนื่องกับประเด็นนโยบายสาธารณะต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาโครงการวิจัยด้านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและการจัดประชุมวิชาการเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพร่วมกัน โดยมีโครงการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพจากการดำเนินโครงการต่างๆ ที่สำคัญในระดับพื้นที่ เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง กรณีอาคารสูง จังหวัดเชียงใหม่ กรณีการใช้สารเคมีการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานและจังหวัดลำพูน และ กรณีสวนสาธารณะเทศบาลนครยะลา เป็นต้น

ต่อมาจึงมีแนวคิดในการพัฒนานักวิชาการและนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนงานการประเมินผลกระทบในประเด็นต่างๆ ขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ริเริ่มดำเนินโครงการการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในระดับบัณฑิตศึกษาขึ้น ในปี พ.ศ. 2546-2547 โดยมีการจัดกระบวนการให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพและระบบการประเมินผลกระทบทางสุขภาพให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และจัดกระบวนการพัฒนาข้อเสนองานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์/การค้นคว้าแบบอิสระ พร้อมให้ทุนสนับสนุนการวิจัยที่ผ่านการพิจารณา ควบคู่ไปกับการพัฒนาหลักสูตรการประเมินผลกระทบทางสุขภาพให้เป็นรายวิชาเลือก สำหรับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร มหาบัณฑิต