ชาวแปดริ้วเผยโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ทำลายเกษตรอินทรีย์และแย่งน้ำคลองท่าลาด

   ฉะเชิงเทรา-เปิดข้อมูลการประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) กรณีโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ จ.ฉะเชิงเทรา หวั่นผลกระทบจากมลพิษโรงไฟฟ้าบานปลาย สร้างความเสียหายต่อระบบเกษตรอินทรีย์และสวนมะม่วงคุณภาพส่งออกของชาวบ้าน มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดกรณีพิพาทแย่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคระหว่างกลุ่มเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่ม หลังข้อมูล จ.ฉะเชิงเทรา ระบุชัดเป็นพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นแหล่งขาดแคลนน้ำ ฟากนักวิชาการหวังเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะช่วยให้ทุกฝ่ายหาข้อตกลงร่วมที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่ายได้
 
   เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่หอประชุมวิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นักวิจัยชุมชน อ.พนมสารคาม และอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อค้นพบเบื้องต้น จากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 600 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม และติดกับ อ.สนามชัยเขต อาจทำให้ชุมชนเกษตรอินทรีย์และสวนมะม่วงส่งออกในพื้นที่ล่มสลาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมแล้วเกือบ 50 ล้านบาทต่อปี และอาจเกิดกรณีพิพาทแย่งชิงทรัพยากรน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค อันเนื่องมาจากมลพิษและความต้องการใช้น้ำกว่า 11 ล้าน ลบ.ม. ที่มาพร้อมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายภาคประชาชน และชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
 
   โดยข้อมูลบนเวทีตอนหนึ่งระบุว่า จากการลงพื้นที่เพื่อศึกษาของนักวิจัยชุมชนร่วมกับ สช.บ่งชี้ว่า พื้นที่ใน อ.พนมสารคาม และอ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรานี้ มีความอ่อนไหวต่อการก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินบิทูนัสขนาด 600 เมกะวัตต์ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่าโครงการประมาณ 24,000 ล้านบาท ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่จะก่อตั้งในเขตพื้นที่กลุ่มโรงงานพนมสารคาม ของบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานในเครือบริษัทเกษตรรุ่งเรืองพืชผล
 
   เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานสากลอย่าง สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานสหพันธ์อินทรีย์นานาชาติ (IFOM) และมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) ทั้งข้าวหอมมะลิ มะขามเปียกแกะเมล็ด ตะไคร้ และผักพื้นบ้าน ที่มูลค่าการตลาดต่อปีไม่ต่ำกว่า 17.2 ล้านบาท และยังเป็นแหล่งสวนมะม่วงน้ำดอกไม้และเขียวเสวยคุณภาพระดับส่งออกต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสวิสเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น ดูไบ สิงคโปร์ เวียดนาม ที่มีมูลค่าการตลาดทั้งในและต่างประเทศกว่า 43 ล้านบาท ในปี 2553
 
   ซึ่งถ้าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ มาตั้งอยู่ในรัศมีห่างจากพื้นที่ดังกล่าวเพียง 5 กิโลเมตร ก็อาจทำให้ได้รับผลกระทบจากมลพิษทั้งทางน้ำ พื้นดิน และอากาศได้ เพราะโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงนั้น มักจะมีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปนเปื้อนออกมาและทำให้เกิดฝนกรด ปัจจุบันแค่โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 37.4 เมกะวัตต์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กลุ่มโรงงานพนมสารคาม 304 ก็ส่งผลกระทบทำให้ชาวสวนมะม่วงรอบโครงการ ต้องโค่นสวนทิ้งกว่า 40 ไร่ เพราะมะม่วงติดดอกแต่ไม่ออกผล ซึ่งคาดการณ์ว่าสาเหตุมาจากเขม่าควันจากโรงไฟฟ้า จับดอกมะม่วงทำให้เกิดเชื้อราและเน่าในที่สุด
 
   นอกจากนี้ ข้อมูลจากแผนปฏิบัติราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ทำให้ทราบอีกว่า จ.ฉะเชิงเทรา ในขณะนี้มีความคลานแคลนทรัพยากรน้ำถึงขึ้นไม่พอใช้ โดยใน อ.พนมสารคามถือว่าเป็นพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ ส่วน อ.สนามชัยเขต ชาวบ้านในพื้นที่บ้านโพนงาม บ้านสระไม้แดง และบ้านป่าอีแทน ต.คู้ยายหมี รวมแล้วกว่า 270 ครัวเรือน กินพื้นที่ 2,200 ไร่ ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
 
   ทว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนขนาด 600 เมกะวัตต์ที่จะก่อตั้งนั้น ต้องใช้น้ำจำนวน 11 ล้าน ลบ.ม.ในกระบวนการผลิต โดยมีบริษัทน้ำใส 304 จำกัด เป็นธุระคอยจัดสรรน้ำให้ และหากเป็นการนำน้ำมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการขออนุญาตไปยังกรมชลประทาน ซึ่งทางกรมชลประทานระบุให้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่เพื่อการเกษตรและชลประทานเท่านั้น แต่บริษัทจัดหาน้ำดังกล่าวกลับทำสัญญากับโครงการโรงไฟฟ้าว่าจะจัดสรรน้ำดิบที่หาได้ทั้งหมดให้ โดยแหล่งน้ำธรรมชาติที่โรงงานไฟฟ้าจะขอปันใช้มาจากคลองระบม(ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของลุ่มน้ำคลองท่าลาด) ซึ่งเดิมใช้เพื่อการเกษตรของชาวนาชาวสวนและไม่ค่อยเพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว และมีลิมิตจำกัดในการผันน้ำมาใช้สูงสุดได้ไม่เกิน 2 ล้าน ลบ.ม.
 
   ด้าน นางสาวนันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาชนบทแควระบมสียัด และผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า เวทีในวันนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยยกระดับการต่อสู้คัดค้าน รวมถึงเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านและสังคมได้ทราบถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้น หากมีโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพราะเราชี้แจงด้วยเหตุผลและข้อมูล CHIA ที่ศึกษาร่วมกับ ศปก. โดยขอใช้สิทธิตามอำนาจตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 11 ว่าด้วย ขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ
 
   นางสาวนันทวันกล่าวต่อว่า การขอใช้สิทธิ์ดังกล่าว เนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินนี้ ผ่านการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และอยู่ในขั้นตอนการจัดส่งรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แก่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อส่งให้คณะผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา หลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 600 เมกะวัตต์ จัดอยู่ใน 11 รายชื่อโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่รัฐประกาศ แต่ทางชาวบ้านมองว่าการทำ EHIA นั้นไม่ครอบคลุมและไม่ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องการล่มสลายของระบบเกษตรอินทรีย์และการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ จึงขอทำฐานข้อมูลที่ชาวบ้านต้องประสบกับความเดือดร้อนด้วยตนเองมาชี้แจงให้สาธารณะได้ทราบ และส่งไปพิจารณาร่วมกับ EHIA
 
   “หนทางการต่อสู้ของเราเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยก็ดำเนินการคัดค้านในหลายวิธี ทั้งการยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลในการสร้างโรงไฟฟ้า การจัดเวทีเครือข่ายชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วย ตลอดการชุมนุมเรียกร้อง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวัง ให้ยุติโครงการแต่ก็ยังไม่ประสบผล เราจึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดส่งนักวิชาการให้มาแนะแนวและช่วยทำวิจัยเก็บฐานข้อมูลจากชาวบ้านตามหลัก CHIA เพื่อการให้การต่อสู้และแจ้งต่อสาธารณะน่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักเหตุและผล มิใช่การกล่างอ้างขึ้นมาลอย ๆ” นางสาวนันทวันกล่าว
 
   ขณะที่ พระอาธรณ์ ปัญญาปทีโป จากวัดแหลมเขาจันทร์ หนึ่งในลูกบ้านที่จะได้รับความเดือดร้อน หากมีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ชี้แจงว่า อาตมาไม่สนับสนุนให้มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว เพราะปัญหาเดิมที่บ้านหมู่บ้านซุง บ้านเขาแหลมจันทร์ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคามของอาตมา ยังไม่ได้รับการแก้ไข กับกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 37.4 เมกะวัตต์ ที่ปล่อยน้ำเสียเป็นในลักษณะน้ำร้อนเดือดมีควันลอยและมีตะกอนสู่พื้นที่ชาวบ้านและทางน้ำสาธารณะ ทำให้ปลูกพืชผลไม่ได้ บ่อปลาของอาตมาเสียหาย อีกทั้งชาวบ้าน 3-4 ครัวเรือนใกล้บริเวณจะปล่อยน้ำ ไม่สามารถนำน้ำบ่อดินมาใช้อุปโภคบริโภคได้ตามปกติ
 
   “เมื่อมีการร้องเรียนทางโรงไฟฟ้าก็งดการปล่อยน้ำเป็นระยะ แต่พอฝนตกก็แอบปล่อยน้ำมาอีก นอกจากนี้เมื่อนำน้ำบ่อดินที่ปนเปื้อนน้ำเสียไปตรวจสอบ ทางโรงไฟฟ้าก็มาแจ้งกับชาวบ้านว่า น้ำบูดมีค่าเป็นกรดเอาไปทานและใช้ไม่ได้ และทางโรงไฟฟ้าก็รับผิดชอบโดยการซื้อน้ำให้ชาวบ้านกินสัปดาห์ละ 4-6 แกลลอนต่อหนึ่งครอบครัว แล้วยังมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อขอให้ถ่านหินเป็นส่วนผสมในเชื้อเพลิง พร้อมขอเปลี่ยนวิธีการจำกัดของเสีย เราก็มองว่าของเดิมยังแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วนี่ของใหม่ใหญ่กว่าเก่าตั้งหลายเท่า ปัญหาจะไม่บานปลายมากกว่านี้หรือกับความไม่รับผิดชอบของกลุ่มอุตสาหกรรม อาตมาเลยเป็นหนึ่งเสียงที่คัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน” พระจากวัดเขาแหลมจันทร์ระบุเพิ่ม
 
   นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า เวทีที่จัดขึ้นครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการลดทอนความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดก็มักมาจากการใช้ข้อมูล ระบบความคิด และผลประโยชน์ ไม่ตรงกัน ฉะนั้น การนำเอา ข้อมูล ระบบความคิด และผลโยชน์ที่จะได้รับ มาตีแผ่บนเวทีว่าใครได้ใครเสียใครได้รับผลประโยชน์ใครได้รับผลกระทบมากกว่ากัน และหาทางปรับลดแก้ไขในฝ่ายที่ได้รับผลกระทบหรือกระจายผลโยชน์ให้ได้รับโดยทั่วถึงกัน พร้อมกับกำหนดผู้รับผิดชอบในการมาช่วยปรับลดผลกระทบเชิงลบ แม้จะไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมดแต่ก็น่าจะเป็นทางออกของปัญหาระดับหนึ่งได้
 
   “ข้อมูลที่นำมาตีแผ่บนเวทีนี้ ไม่เฉพาะแค่กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจะได้ประโยชน์ แต่ในภาคส่วนของอุตสาหกรรมเอง ก็สามารถนำเอาข้อเท็จไปประเมินถึงความคุ้มทุนในการลงทุนโครงการว่าควรทำหรือไม่ เพราะการทำโครงการใดโครงการหนึ่งต้องคิดมากกว่ามูลค่าการลงทุนของตนเอง โดยต้องคำนึงถึงชุมชนโดยรอบด้วย อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เงินเบี้ยใบ้ที่ต้องจ่ายรายทางแก่ชาวบ้านและชุมชน มีมูลค่ามากกว่างบการลงทุน 4-5 เท่า ผมจึงอยากแนะนำว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ถ้าจะลงทุนที่มีผลกระทบต่อชุมชนหรือสังคม ต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน และประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน” ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพกล่าว
 
   นพ.วิพุธยังกล่าวอีกว่า ปัญหาอีกส่วนที่ควรแก้ไขก็คือ เวลาตั้งโครงใดโครงการหนึ่ง ทางกลุ่มผู้ลงทุนมักมีการเร่งรัดในการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้นักวิจัย นักวิชาการ เก็บข้อมูลในระยะเวลาจำกัด เน้นแต่ข้อมูลตัวเลขไม่มีเวลาฟังชาวบ้าน จนทำให้เกิดช่องว่างของการประเมินผลกระทบส่วนใหญ่ในปัจจุบัน.
 
ประสานงาน สำนักการสื่อสารทางสังคมและศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (ศปก.)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ขนิษฐา แซ่เอี้ยว
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9140